ครม. อุ้ม 'เอสเอ็มอี' ยกเว้นภาษี 200%!!

04 ก.พ. 2561 | 03:42 น.
ครม. อนุมัติ 3 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วงเงินรวม 1.4 พันล้านบาท พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์บีโอไอ ยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 200%

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบตามข้อเสนอของคณะกรรมการค่าจ้าง ที่ให้ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 5-22 บาท ในทุกจังหวัด โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 ครม. จึงออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในส่วนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ประกอบด้วย

1.มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยปรับเพิ่มการนำค่าจ้างมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้ จากเดิม 1 เท่า เป็น 1.15 เท่า สำหรับค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2561

 

[caption id="attachment_254718" align="aligncenter" width="503"] นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์[/caption]

สำหรับเงื่อนไขการหักลดหย่อนภาษี คือ บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน ในรอบระยะบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ และอัตราค่าจ้างรายวันที่ได้จ่ายให้กับลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 ต้องสูงกว่าอัตราค่าจ้างรายวันเดิม แต่จะต้องไม่เป็นรายจ่ายค่าจ้างที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

กระทรวงการคลัง คาดว่า มาตรการนี้จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 5,400 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้แบ่งเบาภาระให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีต้นทุนแรงงานเป็นส่วนสำคัญในการประกอบกิจการให้มีศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

2.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบการขึ้นค่าจ้าง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2561-2563 ใช้งบประมาณดำเนินการโครงการจำนวน 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2561 จำนวน 500 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 2,500 ล้านบาท และปี 2563 จำนวน 2,000 ล้านบาท มีเป้าหมายดำเนินโครงการในจังหวัดขนาดใหญ่ 25 จังหวัด จังหวัดละ 100 กิจการ จังหวัดขนาดกลาง 33 จังหวัด จังหวัดละ 60 กิจการ และจังหวัดขนาดเล็ก 19 จังหวัด จังหวัดละ 28 กิจการ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมประเมินแล้วว่า การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 จะส่งผลกระทบทางตรงกับเอสเอ็มอี เพิ่มขึ้นประมาณ 0.5-1% ของต้นทุนทั้งหมด

ในขณะที่ เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการนี้จะลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 10% ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนได้ประมาณ 3-5% ของต้นทุนทั้งหมด คาดว่า ใน 3 ปีนี้ จะดำเนินการครอบคลุมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ 50,000 กิจการ และมีผู้ประกอบการและบุคลากรที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้และแนวความคิดการเพิ่มผลิตภาพในเชิงบูรณาการอีก 250,000 คน


ad-hoon-1

3.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบด้านแรงงาน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย คือ มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร จากเดิมที่ให้สามารถนำเครื่องจักรอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีมาใช้ในกิจการการผลิตหรือบริหาร ครั้งนี้ให้ขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมการนำระบบดิจิตอลมาใช้ในการผลิต เพื่อยกระดับการบริหารจัดการ อาทิ การนำ IoT มาใช้ในการควบคุมหรือบริหารจัดการ เป็นต้น ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโครงการที่ดำเนินการอยู่เดิมเป็นระยะเวลา 3 ปี วงเงินสูงสุดที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 50% ของมูลค่าเครื่องจักรที่นำมาปรับปรุง

อีกมาตรการ คือ การปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ตามประกาศของคณะกรรมการบีโอไอ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2557 จากเดิมที่ส่งเสริมให้มีการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีชั้นสูง การพัฒนาผู้ผลิตภายในประเทศ และการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ครั้งนี้ขยายมาตรการให้ครอบคลุมถึงการอบรมบุคลากรให้มีศาสตร์เฉพาะทางที่สูงขึ้น เช่น การฝึกอบรมให้มีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ชั้นสูง อย่างการวิเคราะห์บิ๊กดาต้า และ IoT ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 200% ของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,336 วันที่ 1-3 ก.พ. 2561 หน้า 01-02

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9