ส่งออกขึ้นราคาสู้บาทแข็ง

03 ก.พ. 2561 | 10:03 น.
ผู้ส่งออกแห่ปรับราคาสินค้า หลัง 4 ปัจจัยลบรุมกระหนํ่า “ศรีไทย” ร่อนหนังสือถึงคู่ค้าขอปรับขึ้น 5-10% กลุ่มอาหาร และเกษตรแปรรูปขอขยับตาม การ์เมนต์โอดออร์เดอร์ล่วงหน้า 6-9 เดือนหมดสิทธิ์ปรับ รอรอบใหม่

แม้การส่งออกของไทยภาพรวมปี 2560 ขยายตัวสูงถึง 9.9% และปีนี้ทุกสำนัก พยากรณ์คาดจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่เริ่มต้นปีภาคการส่งออกของไทยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น (ปีที่แล้วแข็งค่าขึ้น 11% และปีนี้แข็งค่าขึ้นแล้ว 2.8%) ราคาวัตถุดิบในบางอุตสาหกรรม ปรับตัวสูงขึ้นขณะที่ราคากระป๋องบรรจุภัณฑ์ก็ปรับขึ้นไม่หยุด ล่าสุดต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงานก็จะเพิ่มขึ้นวันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป จากค่า จ้างขั้นตํ่าทั่วประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 5-22 บาทต่อวัน ยังไม่นับรวมถึงปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศที่รอถาโถมเข้ามา ซึ่งแน่นอนว่าผู้ผลิตส่งออกสินค้าของไทยต้องหาทางฝ่ามรสุมช่วงนี้ไปให้ได้ แนวทางหนึ่งคือการขอปรับขึ้นราคาสินค้า

[caption id="attachment_152087" align="aligncenter" width="503"] สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทSITHAI สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทSITHAI[/caption]

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SITHAI ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกและเมลามีน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือกับคู่ค้าต่างประเทศ พร้อมมีหนัง สือขอปรับขึ้นราคาสินค้าทั้งผลิตภัณฑ์พลาสติกและเมลามีนตั้งแต่ 5% 8% และ 10% ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับเป็นลูกค้าโซนใด ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออก 25%

การปรับราคาสินค้าส่งออกครั้งนี้ ได้ชี้แจงเหตุผลต่อคู่ค้าว่าราคาสินค้าปรับขึ้นตามต้นทุนรวมที่สูงขึ้น โดยราคาเม็ดพลาสติกปรับขึ้นตามราคานํ้ามัน ยังไม่ได้นับรวมต้นทุนค่าแรงที่จะสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นห่วงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะได้รับผลกระทบหนักและน่าจะเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ อาจสะเทือนถึงภาพรวมเศรษฐกิจได้ เนื่องจากไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในสัดส่วน 80-90% และส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานเข้มข้นอยู่

“ศรีไทยตั้งเป้าปี 2561 ยอดขายรวมจะเติบโต 8% หรือจาก 9,600 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา เป็นกว่า 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ จากราคาขายต่อหน่วยสูงขึ้นหลังจากมีการปรับราคาสินค้าเฉพาะ ในส่วนส่งออก อย่างไรก็ตามผลกระทบจากค่าเงินผันผวนกับต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นเป็น 2 เรื่องที่มาซํ้าเติมเศรษฐกิจ ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่บริษัทจะวางแผนธุรกิจอย่างระมัดระวังและพยายามลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ โดยมองแผนธุรกิจไว้ 3 ส่วนคือ 1.จะลงทุนให้น้อยที่สุดและระมัดระวังมากขึ้น 2.ลดต้นทุนภายในให้มากที่สุด 3.ไม่เพิ่มแรงงาน และดูความเหมาะสมในการใช้เทคโนโลยีทดแทนคน ปรับระบบเอกสารทั้งหลายไปในรูปไอทีแทนเพื่อความรวดเร็วและคล่องตัวในการทำงาน”

[caption id="attachment_31589" align="aligncenter" width="393"] วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป[/caption]

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าว ว่าสมาชิกสมาคมใน 6 กลุ่มสินค้า(สับปะรด,ผักและผลไม้,ข้าวโพดหวาน,อาหารพร้อมรับประทาน,ทูน่า และอาหารทะเล) รวมเกือบ 200 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบ และค่าเงินที่ผันผวนมาเป็นระยะ และในการเจรจารับออร์เดอร์ที่ส่วน ใหญ่รับออร์เดอร์ล่วงหน้าประมาณ 3 เดือนก็จะมีการเจรจาต่อรองราคากันขึ้น-ลงตามต้นทุนที่เปลี่ยน แปลงไปเป็นรายไตรมาส ซึ่งในปีนี้จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอีก ค่าจ้างขั้นตํ่าที่เตรียมปรับขึ้น และผล จากต้นทุนด้านกระป๋องบรรจุภัณฑ์ที่ปรับขึ้นในปีที่แล้ว 7.7% และต้นปีนี้เตรียมปรับขึ้นอีก 5% ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นมาก

“คงต้องเจรจาขอคู่ค้าปรับราคา ไม่งั้นขาดทุนแน่ๆ เพราะสินค้าอาหาร และเกษตรแปรรูปของไทยส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ไม่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่าในการนำเข้าวัตถุดิบได้ถูกลง อย่างไรก็ดีการปรับขึ้นราคาไม่ใช่ง่าย ขึ้นกับคู่ค้าจะยอมรับหรือไม่ เพราะในหลายสินค้าเราก็มีคู่แข่งเช่นสับปะรดกระป๋องก็มีฟิลิปปินส์ ข้าวโพดหวานมีฝรั่งเศส ฮังการี จีน เป็นต้น หากลูกค้ารับไม่ได้ก็จะไปซื้อจากประเทศอื่น แต่ก็มีสินค้าบางราย การที่พอปรับขึ้นราคาได้จากมีคู่แข่งขันไม่มาก เช่น ผลิตภัณฑ์จาก มะพร้าว อาทิ กะทิ นํ้ามันมะพร้าวคาดอย่างน้อยจะสามารถปรับราคา ขึ้นได้ครึ่งหนึ่งตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า เช่น เงินบาทแข็งค่าขึ้น 2% อาจขอปรับขึ้นได้ 1% เป็นต้น

ad-hoon-1 ด้านนายสุกิจ คงปิยาจารย์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มฮงเส็ง หนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่ กล่าวว่า ลูกค้ารายใหญ่ปกติจะมีคำสั่งซื้อล่วงหน้า 6-9 เดือน เวลานี้จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เพราะผู้ประกอบการจะทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้เพียง 2-3 เดือน หลังจากนั้นต้องรับความเสี่ยงเอาเอง ขณะที่ค่าจ้างแรงงานคิดเป็นต้นทุนประมาณ 20% ของราคาสินค้า (เอฟโอบี) การปรับขึ้นค่าจ้างเฉลี่ยอีก 15 บาทต่อวัน คิดเป็น 5% ของต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่หนักเท่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นแล้ว 12% นับแต่ปีที่ผ่านมาถึง ณ ปัจจุบัน ดังนั้นการเจรจาขอปรับราคาสินค้าคงต้องรออีก 9 เดือน ซึ่งหากถึงเวลานั้นสถานการณ์ต่างๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงไปอีก ดังนั้นเพื่อลดต้นทุนผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มชั้นนำได้เร่งแผนนำเครื่องจักรอัตโนมัติ โรบอต (แขนกล) มาใช้แทนแรงงานคนมากขึ้น รวมถึงการขยายฐานผลิตในต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงในระยะยาว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,336 วันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
e-book