'ดีแทค' ป่วน! ลดพนักงาน พึ่งเอาต์ซอร์ซ

04 ก.พ. 2561 | 05:19 น.
“ดีแทค” ตั้งเป้าลดพนักงานนับพันคนสิ้นปีนี้ ลดค่าใช้จ่าย ปรับรูปแบบใช้วิธีเอาต์ซอร์ซแทน มือดีการตลาด “สิทธิโชค” เตรียมโบกมือลา หลังโดน “ทรูมูฟ เอช” แซงขึ้นเป็นเบอร์ 2

กำลังมีเสียงร่ำลืออย่างหนักที่อาคารจามจุรีสแควร์ แถวสามย่าน ซึ่งเป็นตึกบัญชาการของค่ายมือถือสีฟ้า ‘ดีแทค’ หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 1 ใน 3 ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ของไทย ที่ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 23.1 ล้านราย เตรียมปรับลดพนักงานจำนวน 1,000 คน ภายในสิ้นปีนี้

แหล่งข่าวจาก ‘ดีแทค’ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ฝ่ายบริหารยังไม่พร้อมให้รายละเอียดกรณีดังกล่าว หลังจากแจ้งผลประกอบการไตรมาส 4 แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 30 ม.ค. 2561 นี้ แล้วจะชี้แจงกับสาธารณชนอีกครั้ง

กล่าวกันว่า การปลดพนักงานครั้งนี้ เหตุผลหลัก คือ ‘ดีแทค’ ต้องการลดต้นทุนในการบริหารจัดการ และปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการว่าจ้างใหม่ จากพนักงานประจำเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบเอาต์ซอร์ซซิ่ง ... “บางหน่วยงานที่ไม่จำเป็นก็จะยุบเลิกไป” - แหล่งข่าวในวงการให้ความเห็น

 

[caption id="attachment_75945" align="aligncenter" width="386"] สิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) สิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)[/caption]

ประการสำคัญ ยังปรากฏรายชื่อของ นายสิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด ที่เพิ่งย้ายมาจาก บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เมื่อปลายปี 2559 ได้ยื่นใบลาออกด้วย มีผลอย่างเป็นทางการเดือน มี.ค. นี้ ซึ่งนายสิทธิโชคตอบคำถาม “ฐานเศรษฐกิจ” เพียงสั้น ๆ ว่า ไม่ขอเปิดเผย ขอให้รอ ‘ดีแทค’ ชี้แจงอย่างเป็นทางการ

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ‘ดีแทค’ มีพนักงานรวมทั้งสิ้นกว่า 6,000 คน และได้ปลดพนักงานเป็นระยะ จนปัจจุบันเหลือเพียง 3,500 คน และถ้าปรับลดอีกในระลอกสุดท้ายปีนี้ จะมีพนักงานเหลือเพียง 2,000 คนเศษ โดยก่อนหน้านี้ ก็มีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะ ว่า ‘ดีแทค’ จะลดขนาดองค์กรลงให้เหลือพนักงานเพียง 2,000 คน และเปลี่ยนจากจ้างพนักงานประจำไปเป็นเอาต์ซอร์ซ แต่ก็เงียบหายไป กระทั่งปะทุขึ้นมาอีกครั้งตอนนี้

ปัจจัยหลักที่ ‘ดีแทค’ ต้องปรับลดพนักงาน ผลพวงหนึ่งเกิดจากที่ ‘เทเลนอร์’ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ‘ดีแทค’ ถูกยึดใบอนุญาตคืนจากปัญหาการเมืองในอินเดียเมื่อหลายปีก่อน หลังจากได้เทเงินลงทุนไปกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่ง ‘นายซิคเว่’ ผู้บริหารระดับสูงของเทเลนอร์ รับว่า เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่

สำหรับการลงทุนในภูมิภาคเอเชียนั้น ‘เทเลนอร์’ กระจายลงทุนทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย, บังกลาเทศ, ปากีสถาน, มาเลเซีย, อินเดีย (ถูกยึดใบอนุญาต) และล่าสุด ได้ใบอนุญาตมือถือในประเทศเมียนมา เป็นระยะเวลา 15 ปี ลงทุนไปแล้ว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยถึงจุดเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต และการเข้าเสนอราคาประมูลคลื่น 3 รอบที่ผ่านมา ‘ดีแทค’ ได้เพียงคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ คู่แข่งอีก 2 ราย ต่างได้ใบอนุญาตเพิ่ม จนถูกจับตาว่า ‘ดีแทค’ อาจถอนการลงทุนในประเทศไทยไปทุ่มเทตลาดเกิดใหม่มากกว่า


ad-hoon-1

จากการแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดผู้ให้บริการคลื่นมือถือ ‘ดีแทค’ จากที่มีฐานลูกค้าเป็นอันดับ 2 ถูก ‘ทรูมูฟเอช’ เบียดขึ้นแทนที่ ด้วยจำนวนตัวเลขผู้ใช้บริการ ณ ไตรมาส 3/2560 ที่จำนวน 26.7 ล้านราย

ขณะที่ รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2560 ของ ‘ดีแทค’ ระบุ มีรายได้รวม 18,809 ล้านบาท ลดลง 3.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรสุทธิอยู่ที่ 601 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันอยู่ที่ 658 ล้านบาท ลดลง 8.8% ขณะที่ จำนวนผู้ใช้บริการของ ‘ดีแทค’ ลดลงอีกไตรมาส โดยไตรมาสนี้ลดลง 508,000 เลขหมาย รวมมีผู้ใช้ 23.1 ล้านเลขหมาย ตามแนวโน้มเดิม คือ ผู้ใช้แบบเติมเงินลดลง ขณะที่ ผู้ใช้แบบรายเดือนเพิ่มขึ้น 1.3 แสนเลขหมาย


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,336 วันที่ 1-3 ก.พ. 2561 หน้า 15

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9