ครม.อนุมัติบริจาคเข้า4กองทุนวิจัยพัฒนา-นวัตกรรมหักลดหย่อนได้

30 ม.ค. 2561 | 11:37 น.
ครม.อนุมัติหลักการให้นำเงินบริจาคเข้า 4 กองทุนด้านวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมหักลดหย่อนภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดา-นิติบุคคล

นาย ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)(30 ม.ค. 61) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ.... ซึ่งเป็นมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวมทั้งหมด 4 กองทุน ประกอบด้วย 1.กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2.กองทุนสนับสนุนการวิจัย 3.กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และ 4.กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยมีรายละเอียดดังนี้
natta1 1. สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.62
- กำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา สำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่นๆ แล้ว

- กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำเงินที่บริจาคมาหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไป โดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากร

2. สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 เป็นต้นไป
- กำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถนำเงินที่บริจาค มาหักลดหย่อนเงินที่บริจาคได้เท่าที่มีการจ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนนั้น
728x90 - กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำเงินที่บริจาค มาหักได้เท่าที่มีการจ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ ตามมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วต้องไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ

"เพื่อให้เป็นช่องทางในการระดมทุนสนับสนุนจากภาคเอกชน เพื่อใช้ในการทำวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมให้มากยิ่งขึ้น และเป็นการสร้างแรงจูงใจในการบริจาคเข้ากองทุนภาครัฐที่ดำเนินการหรือสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม อันจะทำให้ประเทศสามารถยกระดับขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทัดเทียมกับประเทศพัฒนาอื่นๆ"

อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการยกเว้นภาษีดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ราว 60 ล้านบาท

e-book