ธปท.คุมเข้มระบบตรวจสอบ รับพ.ร.บ.ชำระเงินใหม่

30 ม.ค. 2561 | 03:44 น.
พระราชบัญญัติระบบชำระเงิน พ.ศ.2560 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2560 จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ในการกำกับดูแลระบบการชำระเงินของประเทศที่ทันสมัย และครอบคลุมการทำธุรกรรมทางการชำระเงินในทุกประเภท โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นหน่วยงานหลักที่ถือกฎหมายฉบับนี้

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงินธปท.ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ธปท.มีความพร้อมแล้ว ซึ่งได้วางหลักการกำกับดูแลระบบ การวางระบบผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการรวม 3 หมวด เหลือเพียงออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกฎหมายลูกทั้งกำหนดเรื่องความมั่นคง กำหนดประเภทขออนุญาต การขึ้นทะเบียน การกำกับตรวจสอบเรื่องของการปฏิบัติโดยประกาศขึ้นทะเบียนหรือขอใบอนุญาตเป็นอำนาจรัฐมนตรี

[caption id="attachment_254412" align="aligncenter" width="351"] สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา[/caption]

ธปท.กำหนดวิธีการขอใบอนุญาตเป็น 2 ส่วนคือ ถ้าเป็นบริการที่มีผลให้บริการต่อประชาชนจำนวนมาก กระจายทั่วไปหรือขนาดใหญ่ จำเป็นต้องขอใบอนุญาต และในส่วนของผู้ให้บริการบางส่วนในวงแคบ เช่น ทำในโรงอาหารของตัวเองจะต้องขึ้นทะเบียน

“ทุกคนต้องขึ้นทะเบียนผ่านแอพพลิเคชันเพื่อเข้าสู่กฎหมายฉบับใหม่ภายในเดือนสิงหาคม 2561 แต่การขออนุญาตสามารถทยอยได้เรื่อยๆ เพราะผู้ยื่นแอพพลิเคชันแล้วยังสามารถประกอบธุรกิจได้จนกว่าจะมีหนังสือแจ้งเป็นอย่างอื่น ซึ่งไลเซนส์สมัยก่อน (แยกเป็นประเภทก., ข. และ ค.) จำนวนมากที่สุดคำขอประเภทค.ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ e-Money-นอนแบงก์ 68 แห่ง แบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐรวม 36 แห่ง หากรวมรายใหม่ด้วยมีจำนวน 114 สถาบัน โดยรายใหม่ที่แสดงความสนใจขอไลเซนส์ส่วนใหญ่เป็นนอนแบงก์รายเล็กๆ e-Money ประมาณ 10 สถาบัน”

สำหรับการกำกับของธปท.จะเข้มงวดมากขึ้นในแง่ของการติดตามตรวจสอบ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทันสมัย และการทำระบบข้อมูลการชำระเงิน ซึ่งนอกจากใช้ประโยชน์ในการติดตามดูแลตรวจสอบแล้ว ข้อมูลที่ได้ยังจะเห็นประวัติการชำระค่าสินค้าบริการซึ่งสะท้อนวินัยหรือพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นสเตตเมนต์ข้อมูลด้านการเงินหรือที่ไม่เป็นข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลการพัฒนาโมบายยังช่วยต่อยอดการให้สินเชื่อในอนาคต

นางสาวสิริธิดา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาระบบชำระเงินระยะ 4 (Payment Roadmap) ซึ่งเป็นแผนงาน 3 ปีกำหนดสิ้นสุดภายในปี 2563 โดยกรอบของร่างมุ่งพัฒนาระบบการชำระเงินให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ เพื่อสนับสนุนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและประชาชนสามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลาย พร้อมทั้งการกำกับดูแล Stake Holder ครบวงจร

ส่วนพัฒนาการระบบการชำระเงินระยะต่อไปพร้อมที่จะเปิดให้บริการระบบเรียกเก็บเงินผ่านพร้อมเพย์สำหรับภาคธุรกิจ (Request to pay) ภายในไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งธปท.ต้องดูบริการที่จะตอบโจทย์ของภาคธุรกิจทั้งที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะ Request to Pay อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ตอบโจทย์ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซด้วย เพราะภาคธุรกิจต้องการข้อมูลประกอบการทำบัญชีซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องการโอนหรือชำระเงินอย่างเดียวเท่านั้น

728x90-03-3-503x62-3-503x62 อย่างไรก็ตามภาพรวมของผู้ใช้บริการแม้จะมีพัฒนาการระดับหนึ่งแต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องของการพัฒนาระบบหรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งเรื่องบุคลากรยังเป็นปัจจัยสำคัญมาก เพราะเมืองไทยยังมีบุคลากรด้านนี้น้อย ฉะนั้นการพัฒนาส่วนหนึ่งต้องไปจัดระบบในจุดนี้ คือจำเป็นต้องมีบุคลากรเพื่อทดสอบการใช้หรือทำความเข้าใจ

ส่วนการเข้าร่วมทดสอบและพัฒนานวัตกรรม-เทคโนโลยี ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการหารืออีกประมาณ 6 ราย ซึ่งเป็นเทค โนโลยีที่มีความซับซ้อนต้องใช้เวลาในการพัฒนาและมีแผนการพัฒนาต่อเนื่องเป็นเฟสๆ โดยกว่าจะออกจากแซนด์บ็อกซ์ต้องมีความคืบหน้าในเฟสแรกก่อน และส่วนของเฟสที่ 2 จะพัฒนามาต่อยอดนั้นจะมีฟีเจอร์เพิ่มขึ้น ซึ่งโครงการทดลองดังกล่าวมีทั้งรายใหม่และรายเดิมที่พัฒนาเรื่องคิวอาร์โค้ดและออกจากแซนด์บ็อกซ์พร้อมให้บริการแล้ว 8 ราย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,335 วันที่ 28 - 31 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9