‘บางซื่อ-กม.11’ ศูนย์กลางธุรกิจ-การค้าแห่งใหม่

02 ก.พ. 2561 | 04:01 น.
ปัจจุบันนี้พื้นที่นิคมกม.11 เป็นที่ตั้งของอาคารปตท.สำนักงานใหญ่ซึ่งมีพนักงานกว่า 3,000 คนพร้อมบริษัทในเครืออีกกว่า 50 บริษัท อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของศูนย์เอ็นเนอร์ยีคอมเพล็กซ์ที่มีพื้นที่กว้างขวางประมาณ 3 แสนตร.ม. อาคารสำนักงานให้เช่าสำหรับบริษัทในกลุ่มปตท.กระทรวงพลังงาน และบริษัทในธุรกิจที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถรองรับจำนวนผู้ใช้อาคารได้ประมาณกว่า 8,000 คน

ในพื้นที่นิคม กม.11 ยังประกอบไปด้วยสวนรถไฟ รูปแบบสวนสาธารณะที่มีพื้นที่กว่า 375 ไร่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์กว่า 140 ไร่ และสวนจตุจักรที่มีขนาดกว่า 140 ไร่ที่อยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทยและกรุงเทพมหานครรวมพื้นที่ทั้งหมดกว่า 700 ไร่

TP12-3335-1B ดังนั้นด้วยพื้นที่ติดสวนสาธารณะขนาดใหญ่จึงเป็นอีกหนึ่งทำเลทองของการพัฒนาที่อยู่อาศัยในโซนที่เรียกว่าย่านพหลโยธินแห่งนี้ที่อยู่ติดกับสถานีกลางบางซื่อที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคม (ฮับ) แห่งใหม่ที่สามารถรองรับได้ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ตลอดจนการเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนรูปแบบ อื่นๆทั้งเส้นทางภายในประเทศและเชื่อมโยงระหว่างประเทศ พื้นที่นิคม กม.11 พหลโยธินมีแผนพัฒนาในแต่ละโซนที่ประกอบไปด้วย 5 โซนพื้นที่หลัก ดังนี้คือ

โซนที่ 1 อาคารสำนักงานอยู่ฝั่งใกล้กับถนนวิภาวดีรังสิตมีพื้นที่ประมาณ 64 ไร่ คิดเป็นพื้นที่พัฒนาได้ราว 8 แสนตารางเมตร ใกล้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว สถานีรถไฟสายสีแดง และสถานีรถไฟใต้ดินพหลโยธินและจตุจักร

โซนที่ 2 ศูนย์ประชุม ด้วยพื้นที่ก่อสร้างขนาดประมาณ 5.4 แสนตร.ม.พัฒนาให้เป็นศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยระบบขนส่งมวลชน โดยภายในศูนย์ประชุมจะประกอบไปด้วยพื้นที่แสดงสินค้าประมาณ 1.6 แสนตร.ม. และพื้นที่สำหรับร้านค้าและร้านอาหารเพื่อรองรับผู้มาร่วมงาน ผู้ที่ทำงานและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงมาใช้บริการด้วยพื้นที่ประมาณ 1 หมื่นตร.ม. ด้วยโรงแรมขนาด 357 ห้องพร้อมลานจอดรถขนาดใหญ่

โซนที่ 3 โรงพยาบาลนานาชาติแห่งใหม่ ด้วยพื้นที่ประมาณ 24 ไร่เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศด้วยบริการที่ทันสมัยเชื่อมโยงด้วยระบบราง

728x90-03-3-503x62-3-503x62 โซนที่ 4 พื้นที่ใกล้เคียงสวนสาธารณะ อย่างสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ที่มีศักยภาพเหมาะสำหรับการพัฒนาให้เป็นที่อยู่อาศัยแนวสูงที่มีความโดดเด่นใกล้กับศูนย์การค้า ตลาดนัดจตุจักรและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

และโซนที่ 5 พื้นที่ของพนักงานร.ฟ.ท. และที่ทำการหน่วยงานราชการที่กำหนดไว้ในโซนริมถนนกำแพงเพชร 2 จะได้รับการพัฒนาให้เป็นบ้านพักอาศัยของพนักงาน ร.ฟ.ท.

ปัจจุบันยังอยู่ในการเร่งสรุปรูปแบบการพัฒนาของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมเร่งนำเข้าพิจารณาของรัฐบาลในเรื่องรูปแบบการลงทุนเพื่อให้การพัฒนาพื้นที่สามารถรองรับการเปิดให้บริการศูนย์คมนาคมแห่งใหม่อย่างสถานีกลางบางซื่อ ดังนั้นคาดว่าในเร็วๆนี้คงจะได้เห็นความชัดเจนในเรื่องรูปแบบการร่วมลงทุนที่คาดว่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาทสำหรับการพัฒนาในโซนพื้นที่ดังกล่าวซึ่งกลุ่มทุนด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,335 วันที่ 28 - 31 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9