กมธ.ปิดช่องเจ้าสัว ตั้งบ.หนีภาษีที่ดิน

01 ก.พ. 2561 | 03:56 น.
กมธ.ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินปิดช่อง เจ้าสัวตั้งบริษัทกระจายที่ดินหนีถูกโขกอัตรารกร้าง 5% มอบคณะทำงาน 4 ฝ่าย พิจารณากฎหมายลูกรองรับไปในทิศทางเดียวกัน ลดการใช้ดุลพินิจท้องถิ่น

การขยายระยะเวลาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... เป็นครั้งที่ 5 อีก 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 25 มีนาคม 2561

เนื่องจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างฯ มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับข้อมูลและความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นแนวทางตรากฎหมายลูกให้สอดคล้องกับกฎหมายแม่

พล.ท. ชาญชัย ภู่ทอง โฆษกกมธ.เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ประชุมมอบหมายคณะทำงาน 4 ฝ่ายประกอบด้วย กรมธนารักษ์, สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หาทางบรรเทาและออกกฎหมายลูก 23 -27 ฉบับ รองรับกฎหมายแม่ โดยเฉพาะประเด็นที่ดินเช่า, ที่ดินเกษตรแปลงใหญ่, ที่ดินรกร้าง, ที่ดินตาบอด โดยกระทรวงมหาดไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 7 ฉบับที่ต้องออกรองรับ และต้องแก้ไขให้สอดรับกับกฎหมายแม่ที่ท้องถิ่นจะนำไปปฏิบัติ เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ดุลพินิจ ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ มีกฎหมายคุ้มครองเกษตรแปลงใหญ่ ช่วยบรรเทาภาระภาษีแนบท้ายด้วยการช่วยลดหย่อนภาษี ไม่ต้องจ่ายภาษีเต็มจำนวน

“ประเด็นนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ถือครองที่ดินจำนวนมาก นำที่ดินแปลงใหญ่กระจายถือครองในรูปนิติบุคคล ซึ่งประเด็นนี้ กมธ.มอบให้คณะทำงาน 4 ฝ่ายไปพิจารณา ว่าอยู่ในข่ายที่ดินรกร้าง พาณิชย์ หรือกสิกรรม”
ดังนั้น กมธ.จึงพิจารณาแยกการถือครองที่ดินเป็น 2 กลุ่ม ในนามบุคคลธรรมดาและในรูปนิติบุคคล เพื่อลดข้อขัดแย้งการตีความซํ้าซ้อน ซึ่งสศค.จะไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กรณีแปลงที่ดินที่จดทะเบียนนิติบุคคล ได้รับการยกเว้นไว้ ในกฎหมายของกระทรวงเกษตรฯ เรื่องนี้ท้องถิ่นจะตี ความอย่างไร”

728x90-03-3-503x62-3-503x62 โฆษกกมธ.กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นถกเถียง กรณีที่ดินในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่แจ้งการใช้ประโยชน์ว่าทำการเกษตร ขณะที่อีกแปลงเป็นที่ดินรกร้างแต่มีการปลูกต้นกล้วย จะตีความอย่างไร เป็นที่เกษตรกรรมหรือรกร้าง และกรณีเช่าเพื่อเกษตรกรรมจะถือเป็นพาณิชย์หรือไม่ เนื่องจากพ.ร.บ.เกษตรกรรมของกระทรวงเกษตรฯ มีคำจำกัดความว่าที่ดินเกษตรกรรมแต่ให้เช่าถือว่าเป็นที่เพื่อการพาณิชย์ ดังนั้นจึงต้องพิจารณากฎหมายลูกออกมารองรับ ก่อนที่จะยกเลิกกฎหมายเดิม ทั้งนี้ คณะทำงาน 4 ฝ่ายจะนำข้อสรุปประเด็นต่างๆ เสนอต่อกมธ.อีกครั้งในวันที่ 31 มกราคม 2561 นี้

ส่วนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ล่าสุดยังไม่มีข้อเสนอเพิ่มเติม นับตั้งแต่เปิดรับฟังความคิดเห็นเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการผ่อนปรนในข้อเสนอจำนวนมากแล้ว โดยสำหรับการขยายเวลาพิจารณาออกไปอีก 60 วัน จนถึงวันที่ 25 มีนาคมนี้นั้น มองว่าการบังคับใช้กฎหมายอาจล่าช้าออกไป แต่จะใช้กำหนดเดิมคือ ประกาศภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2561 บังคับใช้ปี 2562 และเริ่มจัดเก็บจริงปี 2563 ตามลำดับ

[caption id="attachment_204368" align="aligncenter" width="503"] อิสระ บุญยัง อิสระ บุญยัง[/caption]

ด้านนายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่า กมธ.เห็นช่องโหว่ ที่บริษัทรายใหญ่ตั้งนิติบุคคลกระจายการถือครองที่ดิน ที่ต้องเสียภาษีในรูปที่รกร้างว่างเปล่า จัดเก็บอัตราก้าวหน้า ซึ่งเป็นการควบคุมเจ้าสัวที่มีที่ดินจำนวนมากในมือ แต่การตั้งนิติบุคคลมากระจายแปลงที่ดินจะช่วยลดค่าใช้จ่ายภาษีที่ดินได้ ส่วนคนชั้นกลางที่เป็นที่มรดก เสนอให้อบต.กว่า 7,000 แห่งผ่อนปรน โดยนำที่ดินมรดกดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อสังคม ทำลานกีฬา ซิตีฟาร์ม ฯลฯ ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีและไม่เสียภาษีรกร้าง เป็นต้น

“โดยภาพรวมดีเวลอปเปอร์ไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดิน เพราะปัจจุบันไม่มีรายใดสะสมที่ดินเพื่อรอการพัฒนา (แลนด์แบงก์) ขณะที่กมธ.และกระทรวงการคลังเองก็กำหนดอัตราจัดเก็บลดลงเพื่อลดผลกระทบ แต่บ้านหลังที่ 2 จะกระทบต่อการตัดสินใจบ้าง แต่หากนำไปลงทุนโดยได้ผลตอบแทนที่คุ้มกว่าภาษีที่จะเสีย การซื้อบ้านหลังที่ 2 ก็จะกลับมาในตลาดเหมือนเดิม หรือมีการวางแผนว่าบ้านหลังที่ 2 หลังที่ 3 จะใช้ชื่อทายาทคนใด” นายอิสระกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,335 วันที่ 28 - 31 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9