พาณิชย์ควงเอกชนยันส่งออกโต6%

29 ม.ค. 2561 | 05:46 น.
เอกชนพร้อมใจยันตัว เลขส่งออกปี 61 โตได้ 6% พาณิชย์เตรียมนำข้อสรุปถกเวทีประชุมร่วมทูตพาณิชย์ทั่วโลกอีกครั้ง ก.พ.นี้ ด้านเอกชนระบุบาทแข็งค่าปัจจัยเสี่ยงมากสุดเหนือปรับค่าจ้าง จี้แบงก์ชาติดูแลไม่ให้ผันผวน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญ (26 ม.ค.61) ว่า ได้ข้อสรุปภาพรวมมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2561 น่าจะขยายตัวได้ที่ 6% มูลค่า 2.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะยังคงมีการเติบโตของการส่งออกต่อเนื่องได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ยางและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ นํ้ามันสำเร็จรูป อัญมณีและทองคำ ส่วนสินค้าที่น่าจะชะลอตัวเช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านมีผลผลิตเหมือนกับไทย อาจจะทำให้การส่งออกลดลง

“อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไปรวบรวมข้อมูลจากทูตพาณิชย์ทั่วโลกเพื่อนำมาสรุปและคาดการณ์สถานการณ์ส่งออกในปี 2561 ส่วนค่าบาทยังถือว่าเป็นปัจจัยลบที่ภาคเอกชนกังวลใจมากที่สุดในขณะนี้ ซึ่งทางแบงก์ชาติก็ได้มีมาตรการดูแลไม่ให้แข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่านั้นจากการสอบถามภาคเอกชนส่วนใหญ่มองว่ายังไม่มีผลกระทบมาก เพราะต่างปรับตัวใช้เครื่องจักรแทนแรงงาน”

[caption id="attachment_222895" align="aligncenter" width="503"] นางจันทิรา ยิมเรวัต นางจันทิรา ยิมเรวัต[/caption]

ด้านนางจันทิรา ยิมเรวัต อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยว่าการประชุมครั้งนี้ได้เชิญเอกชนทุกกลุ่มอุตสาหกรรมการส่งออกมาหารือ เช่น ยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ยางพารา กลุ่มอาหาร สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กลุ่มแป้งมันสำปะหลัง กลุ่มไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกและรับฟังปัญหาต่างๆ ก่อนที่จะนำไปประเมินตัวเลขการส่งออกในปีนี้ในการประชุมกับทูตพาณิชย์ 58 แห่งทั่วโลก ระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อสรุปตัวเลขเป้าหมายการส่งออกของปี 2561 ได้อย่างเป็นทางการ

“การคาดการส่งออกเบื้องต้นจะขยายตัวได้ที่ 6-7% นั้นแม้จะเป็นตัวเลขที่ยังไม่เป็นทางการ แต่กรมจะพยายามเร่งขยายการส่งออกในทุกกลุ่มสินค้าให้ได้ตรงตามเป้าหมาย ทั้งตลาดหลักและตลาดรอง ไม่ว่าจะเป็น ตลาดจีน อินเดีย ยุโรป หรือตลาดในกลุ่ม CLMV ให้มากขึ้น”

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา เช่น ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ขณะนี้ยังค่อนข้างแข็งค่าขึ้น หรือปัญหาทางการเมืองในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ หรือมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี ซึ่งทางกรมได้มีการวางแนวทางที่จะเสริมความรู้และการปรับตัวของภาคการส่งออกของไทยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้จะมีการจัดสัมมนาให้กับผู้ส่งออกที่สนใจการปรับตัวจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนรวมถึงแนวทางการเจาะตลาดในกลุ่มประเทศต่างๆอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้กรมได้มองถึงสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศในปีนี้ ยังมีทิศทางที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากแรงขับเคลื่อนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกตลอดจนตลาดหลักที่มีศักยภาพ เริ่มฟื้นตัวและเติบโตได้ดีสะท้อนจากการส่งออกในปี 2560 ที่ขยายตัวสูง 9.9 % สูงสุดในรอบ 6 ปี และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวที่ดีขึ้นของไทย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวสนับสนุนการส่งออก ราคานํ้ามันเริ่มอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง แนวโน้มการลงทุนของบริษัทต่างชาติในโครงการ EEC และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมีการขยายตัวดี

[caption id="attachment_138556" align="aligncenter" width="503"] สนั่น อังอุบลกุล สนั่น อังอุบลกุล[/caption]

ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยว่า การประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม เป็นการหารือเกี่ยวกับตัวเลขส่งออกปี 2561 ทิศทางและสถานการณ์ต่างๆ โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่มเข้าร่วมประชุมและเสนอแนวทาง ซึ่งจะเป็นการเจาะลงไปแต่ละกลุ่มว่าสินค้ามีการขยายตัวหรือปรับลดลงอย่างไร ทั้งนี้เป้าขยายตัวที่เอกชนมองไว้คือ 6% ภายใต้เงื่อนไขค่าบาทอยู่ในระดับที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯทั้งปี และคาดว่าในไตรมาส 3 ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามีทิศทางที่จะคลี่คลาย

ทั้งนี้ข้อเสนอที่ภาคเอกชนเสนอในที่ประชุม คือ ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาบริหารจัดการดูแลเรื่องค่าบาทอย่างจริงจัง เข้มงวด มีความชัดเจนและพูดความจริง รวมถึงจับตาสัญญาณความผิดปกติของค่าเงินอย่างใกล้ชิด ซึ่งข้อเสนอนี้คณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน(กกร.) จะเสนอไปยังรัฐบาลต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,335 วันที่ 28 - 31 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9