ส่งออกอ่วมพิษค่าเงิน บาทแข็งยาว 6 เดือน-ต้นทุนประกันความเสี่ยงพุ่ง

29 ม.ค. 2561 | 05:28 น.
ธปท.สั่งแบงก์คุมเข้มสกัดเก็งกำไรค่าเงินบาท กูรูชี้เทรนด์ครึ่งปี 61 ดอลลาร์อ่อนต่อเนื่อง แนะผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยง หลังค่าธรรมเนียมป้องกันค่าเงินเพิ่มเกือบ 1% จากเดิม 0.4%

นักวิเคราะห์ตลาดเงินทยอยปรับคาดการณ์เงินบาทจากปลายปีที่ผ่านมา หลังเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มอ่อนค่า แม้ถ้อยแถลงของขุนคลังสหรัฐฯยํ้าว่า รัฐบาลสหรัฐฯไม่ต้องการทำสงครามการค้าแต่จะป้องกันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและสหรัฐฯต้องการให้มีการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม”แต่นักลงทุนยังหันไปลงทุนสินทรัพย์โภคภัณฑ์ และหุ้นตลาดเกิดใหม่เนื่องจากไม่มั่นใจในเสถียรภาพเงินดอลลาร์และเตรียมรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในรอบปีนี้

ขณะที่ตลาดเงินยังประเมินเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าและระหว่างทางยังมีความผันผวน โดยตลาดจับตาท่าทีธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะมีการประชุมนัดแรกปลายเดือนมกราคมนี้ จากนั้นในรอบการประชุมครั้งที่ 2 วันที่ 20-21 มีนาคม เฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก แต่ตลาดจับตาว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยจริงและพร้อมจะปรับขึ้น 3ครั้งดังที่เคยพูดเดือนธันวาคมหรือไม่

การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯยังมาจาก แนวโน้มตลาดพันธบัตรสหรัฐฯที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ผลตอบแทนไม่เพิ่ม ขณะที่การเมืองภายในของสหรัฐฯที่มีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ตลาดคาดการณ์ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) มีแนวโน้มจะลดมาตรการคิวอี ซึ่งจะหนุนค่าเงินยูโรและเยนแข็งค่าและเป็นปัจจัยกดดอลลาร์อ่อน

นายชยนนท์ รักกาญจนนันท์ กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนอินฟินิติ จำกัดเปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกรับรู้ถึงแนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์และมีความต้องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ต้นทุนค่าธรรมเนียมป้องกันค่าเงิน(พรีเมียม) ปรับเพิ่มเกือบ 1% จากเดิมอยู่ที่ 0.3-0.4% ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกต้องเลือกจะรับต้นทุนหรือรับความเสี่ยง หากผู้ส่งออกยอมรับต้นทุนควรป้องกันความเสี่ยงในสัดส่วน 70-80% พร้อมแนะนำอย่าเก็งกำไรค่าเงิน เพราะจากนี้ไปตลาดเงินยังผันผวนสูง อย่างไรก็ตาม ความไม่มั่นใจในเสถียรภาพดอลลาร์จะเห็นนักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์โภคภัณฑ์และหุ้นในตลาดเกิดใหม่

“ดอลลาร์ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แม้ช่วงเดือนมีนาคมเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยและช่วยชะลอการอ่อนค่าแต่หลังจากนั้นทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ยังอ่อนต่อ อีกทั้งที่เห็นบิตคอยน์วิ่งนั้น สะท้อนผลจากนักลงทุนเข้าไปเก็งกำไรหลังจากหมดความเชื่อมั่นเงินดอลล์และธนาคารกลางทุกแห่งอาจต้องคิด Exit Policy โดยลดการถือสินทรัพย์ดอลลาร์ในสินทรัพย์ประเภทอื่น หรือในตะกร้าเงินสำรองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) แม้จะเห็นสกุลเงินหยวน(CNY)แซงเพิ่มสัดส่วนขึ้นมาบ้าง แต่ยังไม่สูงมาก จึงมีโอกาสที่จะเพิ่มการถือครองในทองคำซึ่งต้องจับตาราคาทองคำถ้าแนวโน้มดอลลาร์ยังอ่อนค่า”

P1-3335-A ++ธปท.ส่งซิกฉีดยาแรง
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า ธปท. กังวลว่า หากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ จึงจะยกระดับการดูแลและเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพร้อมทบทวนมาตรการเพิ่มเติมหากเห็นว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินผิดปกติ อีกทั้งปัจจุบัน ได้กำชับสถาบันการเงินต่างๆ ต้องติดตามใกล้ชิดเป็นพิเศษในช่วงเวลาที่มีธุรกรรมหนาแน่นจะมีธุรกรรมการเก็งกำไรซึ่งค่าเงินจะมีความผันผวน ไม่เป็นไปตามหลักมาตรการป้องกันค่าเงิน

ในระยะข้างหน้าผู้ประกอบการของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯในสัดส่วน 10-11% นั้นจะต้องปรับตัวเรื่องการตั้งราคาเป็นเงินบาท หรือใช้เงินยูโรเมื่อซื้อขายกับยุโรป หรือใช้เงินเยนเมื่อซื้อขายกับญี่ปุ่นรวมถึงการใช้เงินสกุลท้องถิ่นประเทศนั้น เป็นจุดเริ่มต้นบริหารความเสี่ยงซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการให้ความสำคัญและหันมาใช้วิธีบริหารจัดการความเสี่ยงในลักษณะนี้มากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินปัจจุบันมาจากปัจจัยภายนอกซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก

[caption id="attachment_152599" align="aligncenter" width="380"] วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท.[/caption]

“ธปท.ก็มีวิธีการติดตามค่าเงิน ซึ่งไม่ขอลงรายละเอียด แต่หากพบว่า มีการเคลื่อนไหวค่าเงินที่ผิดปกติ หรือสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไป ธปท.ก็พร้อมที่จะทบทวนมาตรการป้องปรามต่างๆ ภายใต้เครื่องมือที่เรามี ค่าเงินบาทแข็งค่าไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทย แต่ค่าเงินเป็น 2 ด้าน สิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยนอกประเทศ และการที่ดอลลาร์อ่อนค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญในภูมิภาค”

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปัจจุบัน ถือว่าเป็นปรากฏการณ์เดียวกันทั่วโลก โดยเฉพาะสกุลเงินที่ค่อนข้างปลอดภัยก็ค่อนข้างแข็งค่า แต่ในช่วงระยะสั้น หากเคลื่อนไหวผิดปกติ ธปท.ก็มีเครื่องมือที่จัดการระดับหนึ่ง คือการเข้าไปซื้อสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งมันไม่ใช่ว่าอยู่ๆเข้าไปดูแล ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีทั้งแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย ก็มีปัจจัยที่อาจทำให้ดอลลาร์แข็งค่ากลับมาได้

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า สหรัฐฯยังมีประเด็นการเมืองค่อนข้างมากทั้งการต่อรองเรื่องแผนงบประมาณ/การขยายเพดานหนี้ เพราะมีการต่ออายุเพียงระยะสั้นประกอบกับเดือนพฤศจิกายนจะมีเลือกตั้งกลางเทอมที่จะต้องประลองเสียง เหล่านี้ย่อมกระทบต่อไทยโดยเห็นได้จากเงินบาทแข็งค่าเร็วมากเพียง 3สัปดาห์แข็งค่าแล้ว 3.7% ซึ่งยังไม่จบเดือนมกราคมเทียบเมื่อปลายปีก่อนเงินบาทแข็งค่าเกือบ 1% ต่อสัปดาห์ หากเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า 3.1% ขณะที่ทุกสกุลเงินของประเทศภูมิภาคแข็งค่ากว่าดอลลาร์เช่นกัน

728x90-03-3-503x62-3-503x62 นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)กล่าวถึงทิศทางดอลลาร์ว่า ยังคงอ่อนค่าตลอดปีนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยอยู่กับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าที่คาดด้วย เพราะยังมีความไม่แน่นอนในปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐฯหลายเรื่อง เช่น การกีดกันทางการค้าที่มากขึ้นจะส่งผลต่อสหรัฐฯอย่างไร ประกอบกับสถานการณ์ ชัตดาวน์ที่ยังกลับมา ขณะที่ประเทศอื่น เช่น ยูโร ญี่ปุ่นสัญญาเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นและอัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,335 วันที่ 28 - 31 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9