อุทาหรณ์ ... จากคดีปกครอง | สั่งยกเลิกการสอบราคา 'ด้วยวาจา' ถือว่าผู้เสนอราคาทราบแล้ว ... ขอรับ!!

16 ก.พ. 2561 | 06:44 น.
1327

“อุทาหรณ์ ... จากคดีปกครอง” ฉบับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแจ้งคำสั่งทางปกครองและผลของการไม่แจ้งสิทธิอุทธรณ์ให้คู่กรณีทราบ

ซึ่งถือเป็นหลักกฎหมายที่ฝ่ายปกครองต้องรู้และเข้าใจ ... ครับ

ทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว มีมูลเหตุจากการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ นายก อบต. พ้นจากตำแหน่ง เพราะ นายก อบต. ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ เนื่องจากยกเลิกการสอบราคาจ้างตามโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีต โดยไม่แจ้งคำสั่งยกเลิกการสอบราคาให้บริษัทผู้เสนอราคาต่ำสุด ซึ่งมีสิทธิเข้าทำสัญญาจ้างทราบและไม่ปฏิบัติตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 โดยมิได้แจ้งสิทธิอุทธรณ์


JFesbD6wth7i
เหตุดังกล่าวส่งผลให้ นายก อบต. ต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่? หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุของ อบต. ได้แจ้งคำสั่งยกเลิกการสอบราคาจ้างด้วยวาจาให้ตัวแทนบริษัททราบ พร้อมให้ดูเอกสารการยกเลิกการสอบราคาด้วย และ นายก อบต. ยังได้มีหนังสือแจ้งบริษัทว่า ไม่สามารถให้บริษัททำสัญญาจ้างได้ เนื่องจากอาจมีการสมยอมราคากัน อีกทั้งบริษัทโดยตัวแทนได้ให้การยืนยันถึงการรับทราบเรื่องยกเลิกการสอบราคาต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ปัญหาประการแรก การที่เจ้าหน้าที่พัสดุและ นายก อบต. ดำเนินการแจ้งคำสั่งยกเลิกการสอบราคาด้วยวิธีการดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

ประเด็นนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยวางหลักไว้ว่า “คำสั่งยกเลิกการสอบราคา” เป็น “คำสั่งทางปกครอง” ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และกฎหมายเฉพาะ คือ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 ไม่ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งคำสั่งทางปกครองไว้


Ad_Online-03

ดังนั้น ต้องนำวิธีการแจ้งคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาใช้ โดยอาจกระทำโดยการแจ้งด้วยวาจาก็ได้ แต่ถ้าผู้นั้นประสงค์จะให้กระทำเป็นหนังสือ ก็ให้แจ้งเป็นหนังสือ และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามที่กล่าวข้างต้น ถือได้ว่า มีการแจ้งคำสั่งยกเลิกการสอบราคาให้บริษัททราบโดยชอบแล้ว

ปัญหาประการที่ 2 การไม่แจ้งสิทธิอุทธรณ์มีผลทำให้คำสั่งยกเลิกการสอบราคาไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้ออกคำสั่งทางปกครองต้องระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้ง และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งไว้ในคำสั่งนั้นด้วย

แต่ถ้ามิได้ระบุไว้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ก็มิได้ทำให้คำสั่งทางปกครองนั้น ต้องเสียไปหรือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด เพียงแต่มีผลทำให้ระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือโต้แย้ง ต้องเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง แต่ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่และระยะเวลาดังกล่าวสั้นกว่า 1 ปี ต้องขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปเป็น 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งเท่านั้น


pexels-photo-534204
ดังนั้น จึงไม่อาจถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่จนถึงต้องพ้นจากตำแหน่งแต่อย่างใด

ครับ ... คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดท่านได้อธิบายข้อกฎหมายที่ถือเป็นหลักปฏิบัติราชการที่ดีในทางปกครอง หากสนใจก็ศึกษารายละเอียดได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 729/2560 ครับ ...

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการแจ้งคำสั่งทางปกครองสามารถแจ้งได้ด้วยวาจา แต่ก็ควรที่จะมีข้อเท็จจริงยืนยันถึงการรับแจ้งคำสั่งดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กำหนดให้ผู้ออกคำสั่งทางปกครองต้องระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งในคำสั่ง ย่อมแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการทำคำสั่งที่ทำเป็นหนังสือเช่นกัน

อย่างน้อยก็เพื่อให้คู่กรณีสามารปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนด้วยการอุทธรณ์ตามขั้นตอนของกฎหมาย ... ครับ!


………………..
คอลัมน์ : อุทาหรณ์ ... จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง | หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,335 วันที่ 28-31 ม.ค. 2561 หน้า 06


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว