เปิดมิติใหม่องค์กรท้องถิ่นร่วมทุนเอกชน สร้างเมืองสมาร์ทซิตี

02 ก.พ. 2561 | 05:38 น.
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ ทีดีอาร์ไอ ร่วมกับวิทยาลัยการปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเสวนาเรื่อง “การเพิ่มบทบาทการพัฒนาขนส่งทางราง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เนื่องจากที่ผ่านมา เกิดความตื่นตัวของกลุ่มนักธุรกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายจังหวัดใหญ่ จัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองขึ้นมาสร้างเมืองสมาร์ทซิตี ซึ่งส่วนหนึ่งคือการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ท่ามกลางความห่วงใยในข้อจำกัดกฎระเบียบของหน่วยงานราชการ

MP21-3335-1A นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมือง เริ่มต้นที่บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด ที่นักธุรกิจร่วมลงขันกัน 200 ล้านบาท ร่วมมือกับ 5 เทศบาล สร้างเมืองให้เป็นสมาร์ทซิตีในทุกๆ ด้าน และกลายเป็นขอนแก่นโมเดล ที่หลายๆ เมืองใหญ่นำไปใช้ จนปัจจุบันมีการตั้งบริษัทพัฒนาไปแล้ว 12 แห่ง เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา เริ่มแนวคิดพัฒนาระบบขนส่งทางรางและซิตีบัสเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรภายในตัวเมือง ด้วยการระดมทุนสาธารณะ ซึ่งจะสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

เช่นเดียวกับ นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่บริษัทสามารถทำได้สำเร็จคือการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน พ่อค้า นักธุรกิจ ขอนแก่นโมเดลสำคัญใน 2 กรอบ คือ ภาคสังคม เปลี่ยนวิธีคิดของพ่อค้าที่เคยจอดรถบนถนนหลวง มาสร้างที่จอดรถเพื่อคืนพื้นที่ให้ส่วนรวม อีกกรอบ คือ การสร้างขอนแก่นเป็นสมาร์ทซิตี ใน 6 ด้านคือ สมาร์ทโมบิลิตี สมาร์ท ลิฟวิ่ง สมาร์ทโกเวิร์นเมนต์ สมาร์ทพีเพิลสมาร์ทอีโคโนมี และสมาร์ทเอนไวรอนเมนต์

[caption id="attachment_253744" align="aligncenter" width="503"] สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)[/caption]

“ซึ่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในกับเมืองในรูปแบบรัฐร่วมมือกับเอกชนหรือ PPP จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี แต่สำหรับขอนแก่นโมเดล จะย่นระยะเวลาให้สั้นลง ด้วยการเดินหน้าจับมือกับ 5 เทศบาล ก่อตั้งบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด หรือเคเคทีเอส จับมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เลือกแนวเส้นทางการให้บริการของรถไฟฟ้ารางเบา และเปิดให้ผู้สนใจเข้าประมูลโครงการ ขณะนี้รอผลการศึกษาจาก สนข. ซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จใน 3 ปี รวมแล้วทั้งโครงการใช้เวลาเพียงแค่ 5-6 ปี”

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเมืองในแบบขอนแก่นโมเดลต้องประสบกับการขาดทุนในระยะเริ่มต้น โดยรถบัสโดยสารขอนแก่นซิตีบัส ที่วิ่งระหว่าง สนามบินขอนแก่นกับ บขส. 3 ยังขาดทุนเดือนละ 1.5 แสนบาท แต่คาดว่า ภายในสิ้นปี 2561 ปัญหาการขาดทุนจะหมดไป

“ปัจจุบัน ขอนแก่น สมาร์ทซิตี้ ได้บรรจุเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดขอนแก่น จนถึงปี 2572 หรือ 3 รอบปีงบประมาณ โดยภาครัฐต้องเปลี่ยนจากผู้ปกครองมาเป็นผู้สนับสนุนในขอนแก่นโมเดล และอีกไม่นานนัก โรงไฟฟ้าจากขยะจะเริ่มเดินเครื่องทำให้ประหยัดพลังงานได้ถึง 10 ล้านบาท และภายใน 7 ปี ขยะจะหมดจากเมืองขอนแก่น” นายสุรเดช กล่าวทิ้งท้าย

[caption id="attachment_253742" align="aligncenter" width="503"] รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น[/caption]

รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น กล่าวเสริมว่า การพัฒนาเมืองขอนแก่นมีการหารือมานานกว่า 12 ปี ไม่ใช่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้ และมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนในการศึกษาพัฒนาเมืองมาโดยตลอด นอกจากนี้ พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า มีหน้าที่ในการดำเนินระบบขนส่งมวลชนโดยได้รับการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งขอนแก่นตั้ง เคเคทีเอส ขึ้นมาเดินรถไฟฟ้ารางเบาเหมือนอย่างที่กรุงเทพมหานครก่อตั้งบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ขึ้นมาบริหารรถไฟฟ้าบีทีเอส 5 เทศบาลผู้ร่วมก่อตั้ง เคเคทีเอส จึงใช้อำนาจออกเทศบัญญัติติดตามกำกับบริษัทลูก โดยมี สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และไพร้ซ์ วอเตอร์เฮาส์ เป็นผู้ตรวจความโปร่งใส

“รถไฟฟ้ารางเบาจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่ขณะนี้ ขอนแก่นโมเดล ได้สร้างเสน่ห์ให้กับเมือง มีนักพัฒนาที่ดินให้ความสนใจมากขึ้น ซีพีแลนด์ เพิ่งเปิดศูนย์การประชุมนานาชาติ KICE พื้นที่ 1 หมื่นตร.ม.ใหญ่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” รศ.ดร.ศุภวัฒนากร กล่าวสรุป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,335 วันที่ 28 - 31 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว