คลัสเตอร์ไม่ใช่ก๊วน

29 ม.ค. 2561 | 23:05 น.
TP13-3335-1B ผมเชื่อว่าเราได้ยินเรื่องคลัสเตอร์กันมานาน ในประเทศไทยมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย บางแห่งเกิดตามธรรมชาติของธุรกิจและค่อย ๆ เติมเต็มตามแรงจูงใจต่าง ๆ ของรัฐหรือของผลประโยชน์ร่วม ทั้งในภาพระดับภูมิภาคหรือจังหวัด ทั้งในอุตสาหกรรมระดับใหญ่ หรือในระดับชุมชน และหลายครั้งก็มีคนใช้ “คลัสเตอร์” แบบผิด ๆ เพี้ยน ๆ เป็น “ก๊วน” หรือ “โต๊ะแชร์” มากกว่าจะเป็นคลัสเตอร์ในนิยามของ Michael Porter ที่ให้มีผู้เล่นทุกกลุ่มในซัพพลายเชนและมีส่วนสนับสนุนอื่น ๆ ทั้งภาคการศึกษา การบริการของรัฐและเอกชนอื่น ๆ โดยผู้เล่นในคลัสเตอร์เหล่านี้ต่างพึ่งพาอาศัยกัน สนับสนุนกัน และแข่งกันกลาย ๆ แต่ต้องมีกิจกรรมครบถ้วนที่สนับสนุนกัน มีตัวจุดประกาย (Igniter) ตัวเร่งเร้า (Catalyst) และแน่นอนสิ่งที่ยึดโยงทุกส่วนให้อยู่ด้วยกันคือการพึ่งพาอาศัยกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่มีใครได้ “กินรวบ”

แต่เดิมนั้น ผู้เล่นในคลัสเตอร์จะมาอยู่รวมกันในที่ใกล้ ๆ กัน แต่ในปัจจุบันบางคลัสเตอร์อาจมีสมาชิกที่ตั้งห่างกันแต่ด้วยเทคโนโลยีทำให้สามารถอยู่ในเครือข่ายเดียวกันได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของกลุ่มธุรกิจนั้น ๆ แต่ที่น่าสนใจสำหรับผมคือ ทำไมหลายคลัสเตอร์ที่พยายามปลุกปั้นขึ้นมากลับไปไม่ได้ไกลเหมือนที่ฝันไว้ แต่บางแห่งกลับไปไกลกว่าที่คิด อะไรทำให้คลัสเตอร์แต่ละแห่งถึงแตกต่างกันในความสำเร็จมากนัก

วันนี้ผมขอยกตัวอย่าง คลัสเตอร์ข้าวแห่งหนึ่งที่จังหวัดร้อยเอ็ดที่พัฒนาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ “ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล” พยายามปลุกปั้นมาหลายปี ตั้งแต่การรวมกลุ่มของเกษตรกรอินทรีย์ในจังหวัดร้อยเอ็ดจำนวนไม่กี่สิบรายเพื่อร่วมกันผลิตข้าวอินทรีย์ จนวันนี้มีเครือข่ายข้ามจังหวัดในภูมิภาคอีสาน จากเครื่องจักรสีข้าวของ กลุ่มเล็ก ๆ เครื่องเดียว แต่วันนี้กลุ่มเกษตรกรนี้มีโรงสีข้าวกล้องขนาด 4 ตันต่อวัน และโรงสีข้าวขาวขนาด 100 ตันต่อวัน มีโรงงานสกัดนํ้ามันรำข้าวแบบหีบเย็น 2 เครื่อง โรงงานผลิตจมูกข้าวบดสำหรับชงดื่มแบบสุก กำลังการผลิตพร้อมบรรจุเสร็จ 100 กิโลกรัมต่อวัน โรงบรรจุสุญญากาศ 6 เครื่อง กำลังการผลิต 2,500 กิโลกรัมต่อวัน และกำลังขยายกำลังการผลิตออกไปอีก โดยได้รับสินเชื่อจากกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐอีก 7.8 ล้านบาท เพื่อลงทุนในการขยายกำลังการผลิตข้าวกล้อง

728x90-03-3-503x62-3-503x62 ผมฟังอาจารย์รณวริทธิ์ เล่าให้ฟังถึงความสำเร็จเหล่านี้ ถึงรู้ว่าไม่ได้มาจากความโชคดี ไม่ได้มาจากการช่วยเหลือที่ได้จากรัฐ แต่มาจากโอกาสต่างๆ ที่ “อาจารย์ รณวริทธิ์และสมาชิก” ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ แสวงหาโอกาสที่เปิดกว้างทั้งจากภาครัฐและเอกชน ผมเคยเจออาจารย์วณวริทธิ์ที่ประเทศเยอรมนีในงานเกษตรอินทรีย์ ที่พยายามจะเผยแพร่เกษตรอินทรีย์ของไทยในเวทีโลก “อาจารย์” เล่าให้ผมฟังถึงเส้นทางที่ค่อย ๆ ก้าวเดินมาแต่ละก้าวอย่างภาคภูมิใจ เริ่มจากกลุ่มวิสาหกิจเล็ก ๆ หันมาทำเกษตรอินทรีย์ หาเครือข่ายทุกส่วน ตั้งแต่โรงสีขนาดใหญ่ที่มีลูกค้าข้าวเพื่อเป็นตลาด หารือกับรัฐเพื่อเข้าสู่ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือของกระทรวงอุตสาหกรรม การทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบที่ต้นนํ้าเพื่อให้ได้คุณภาพตามที่ต้องการ นอกจากนี้ ระบบการบริหารของกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ การจัดสรรรายได้ของกลุ่ม ผลประโยชน์ที่ได้แบ่งเพื่อการพัฒนา เพื่อการลงทุน สมาชิกมีส่วนร่วมในการเป็นหุ้นส่วน มีคณะกรรมการที่ช่วยกันบริหารและกำหนดเส้นทางเดินของกลุ่ม จนวันหนึ่งการขยายตัวอย่างรวดเร็ว “อาจารย์” เล่าว่าเราต้องเปลี่ยนสถานะของกลุ่มจากวิสาหกิจมาเป็นบริษัท เพื่อให้ธุรกิจเดินอยู่ในระบบและทำให้สามารถเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผมฟังทุกคำพูดที่อาจารย์เล่าให้ผมก็รู้ว่ามาจากความรู้ที่ตกผลึก และอาจารย์บอกยํ้าในแต่ละช่วงว่า ความสำเร็จที่มีอยู่ทุกส่วน มีทุกกิจกรรมที่จำเป็นตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงผู้ทำการตลาด รวมตัวกันในคลัสเตอร์ ซึ่งผมก็เชื่ออย่างนั้นเพราะหลายวิสาหกิจหรือกลุ่มต่าง ๆ มักจะมีองค์ประกอบของคลัสเตอร์ไม่ครบโดยเฉพาะตลาด

บาร์ไลน์ฐาน ที่สำคัญ แนวคิดของการรวมตัวกันที่อาจารย์รณวริทธิ์ยํ้าตลอดการคุยกัน คือหลักการ “กินแบ่ง ไม่ใช่กินรวบ” ของกลุ่มนี้ การมีหน่วยงานสนับสนุนของรัฐและภาคการศึกษาที่อาจารย์เดินเข้าหา อาจารย์เล่าว่า เมื่อเริ่มต้นนั้น เป็นการรวมกลุ่มเกษตรกร ขยับมาเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน แต่เมื่อโตแล้วก็ใช้แนวคิดของคลัสเตอร์ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยจนขยายตัวมากขึ้น และต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล การพัฒนาเป็นไปอย่างครบวงจรมากขึ้น แม้แต่การนำเศษข้าวจากการสีที่เคยขายออกไปในราคาที่ตํ่า และได้รับการแนะนำจากทีมที่ปรึกษาและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดว่าของเหลือกว่า 30% นำมาทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งสบู่ ยาสระผม ชาดื่ม อาหารเสริม และอื่น ๆ อีกมากมายหลายอย่างและขายได้ในราคาที่สูงกว่าข้าวหลายเท่า

ผมนั่งฟังอาจารย์รณวริทธิ์เล่าให้ฟังอย่างภูมิใจในความสำเร็จของกลุ่ม ผมเข้าใจเลยครับว่าความสำเร็จของคลัสเตอร์นี้ เส้นทางการเดินกว่าจะมาเป็นคลัสเตอร์ที่ดีเยี่ยมในวันนี้ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความยุ่งยาก ผ่านความลำบากมาเยอะมาก แต่ความมุ่งมั่น ความจริงใจและการทำงานเพื่อกลุ่มของสมาชิก รวมทั้งการวางกลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่ครบวงจร และที่สำคัญคือการตลาดที่เยี่ยมยอด ทำให้สินค้าของคลัสเตอร์นี้ออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง และขยายตลอดเวลาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และจะเป็นบทเรียนรู้ที่สำคัญให้กับกลุ่มอื่น ๆ ที่จะเดินตาม จะได้เห็นและรู้ว่าเส้นทางสู่ความสำเร็จที่มีใบหน้าเปื้อนยิ้มและความสุขของสมาชิกในวันนี้ แลกกับหยาดเหงื่อ ความเหนื่อย เสียสละ และความมุ่งมั่น มากเพียงใด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,335 วันที่ 28 - 31 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว