‘ไฮเออร์’ เดินหน้าสู่ท็อป 5 ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทย

11 ม.ค. 2559 | 05:00 น.
"เครื่องใช้ไฟฟ้า" ถูกจัดให้เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีแนวโน้มสดใสในปี 2559 จากปัจจัยบวกรอบด้านทั้งจากการเติบโตของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐที่จะผลักดันให้เกิดการหมุนเวียนเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจส่งผลให้ตลาดมีการพัฒนาและเกิดนวัตกรรม เป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคสนใจและตัดสินใจซื้อ การเริ่มต้นศักราชใหม่จึงส่งสัญญาณที่ดีให้ผู้ประกอบการเริ่มขยับตัว พร้อมกับเดินหน้ารุกธุรกิจทันที ซึ่งหนึ่งในแบรนด์ที่น่าจับตามอง ได้แก่ "ไฮเออร์" เครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติจีน ที่มาพร้อมแม่ทัพใหม่ "หยาง เสี้ยวหลิน" ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ไฮเออร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ประกาศพร้อมลุยตลาดเมืองไทยเต็มสูบ

[caption id="attachment_25615" align="aligncenter" width="381"] หยาง เสี้ยวหลิน หยาง เสี้ยวหลิน[/caption]

 มองแนวโน้มตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2559 เป็นอย่างไร

นายหยาง ซีอีโอคนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมาประเมินสถานการณ์ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในเมืองไทยปีนี้ว่า คาดว่าจะมีเติบโตเท่ากับปีที่ผ่านมา หรือสูงสุดที่ไม่เกิน 8% จากภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทยซึ่งมีมูลค่ารวมราว 7 หมื่นล้านบาท

โดยแผนการดำเนินงานของไฮเออร์ในปีนี้ เน้นการลงทุนใหม่ๆ เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวสินค้าใหม่ทั้งทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ควบคู่กับการพัฒนาฟังก์ชันที่หลากหลายเพื่อรองรับความต้องการ

"ปีนี้ไฮเออร์มีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ตู้แช่ ทีวี และเครื่องซักผ้า โดยเน้นความแข็งแกร่งด้านผลิตภัณฑ์ของสินค้า และเครือข่ายคู่ค้าที่เป็นทั้งตัวแทนจำหน่ายและศูนย์บริการทั่วประเทศ พร้อมกับสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและใกล้ชิดกับผู้บริโภคชาวไทยมากยิ่งขึ้น"

ขณะที่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากสามารถกระตุ้นอารมณ์การจับจ่ายของประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยส่วนตัวมองว่าอยากให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะดังกล่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตลาดมีการเติบโต แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้ประกอบการจะต้องมีการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น

"ปัจจุบันผู้กลุ่มลูกค้าชาวไทยเชื่อมั่นและยอมรับแบรนด์สินค้าจากจีนมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังน้อยกว่าแบรนด์จากประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งตรงจุดนี้เองที่บริษัทต้องพยายามสร้างแบรนด์และความเชื่อมั่นผ่านสินค้าที่มีคุณภาพ และราคาถูกว่าคู่แข่ง 5% ไปยังกลุ่มผู้บริโภค โดยมั่นใจว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดในเมืองไทยได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ "

 วางเป้าหมายในระยะยาวอย่างไร

นายหยาง บอกว่า ไฮเออร์ตั้งเป้าหมาย 3-5 ปีนับจากนี้ จะก้าวสู่แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าท็อป 5 ของเมืองไทยในกลุ่มเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า จากปัจจุบันที่ส่วนแบ่งทางการตลาดเฉลี่ย 3-4% เนื่องจากมองว่าปัจจุบันกลุ่มลูกค้าชาวไทยมีความเชื่อถือในตัวแบรนด์มากยิ่งขึ้น จากคุณภาพและการสร้างการรับรู้ในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนกิจกรรมการตลาดจะเน้นสร้างแบรนด์ให้มีศักยภาพและความเชื่อมั่นในตัวแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในแง่ของการบริการ ด้วยการเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภค ผ่านช่องทางการสื่อสารยุคใหม่อย่าง เฟซบุ๊ก ที่มีเนื้อหาตรงใจและให้ลูกค้าได้เห็นเนื้อหาเกี่ยวกับสินค้า แบรนด์ และ Tip & Trick ในการใช้งาน โดยชูคอนเซ็ปต์ทำให้งานบ้านเป็นเรื่องง่าย และสนุก โดยสามารถเพิ่มจำนวนแฟนเพจจากเดิม 2 หมื่นในช่วงต้นปี 2558 เป็น 3 หมื่นรายในปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังให้ลูกค้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้า บริการ และแบ่งปันประสบการณ์ในการใช้สินค้าต่าง ๆ ร่วมกัน นับเป็นการทำให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ภายใต้งบประมาณทางการตลาดทั้งสิ้น 4-5% ของยอดขายทั้งหมด

"นอกจากการโฆษณาและการสื่อสารที่เน้นขับเคลื่อนไปช่องทางออนไลน์แล้ว ยังมีกิจกรรมออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานแสดงสินค้า การสร้างการจดจำแบรนด์ผ่านเครื่องมือสื่อสารต่างๆ และความร่วมมือจากองค์กรภาครัฐและเอกชนในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมไทยด้วยดีเสมอมา"

พร้อมกันนี้ยังเตรียมขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของเวียดนามและอินโดนีเซีย หลังจากเข้าไปทำตลาดแล้วใน ลาว กัมพูชา และเมียนมา เนื่องจากมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการเติบโตสูง

 แผนการลงทุนด้านการผลิตในปีนี้เป็นอย่างไร

ซีอีโอไฮเออร์ บอกว่า เตรียมใช้เงินลงทุนราว 300 ล้านบาท ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องปรับอากาศเชิงพานิชย์ 30% ซึ่งจะสามารถรองรับการขยายตลาดได้ทั้งในส่วนของประเทศไทยและในแถบภูมิภาคอาเซียน จากเดิมที่บริษัทสามารถผลิตเครื่องปรับอากาศได้ 2 แสนชุดต่อปี แบ่งเป็นกำลังการผลิตเครื่องปรับอากาศเชิงพานิชย์ 5 หมื่นชุดต่อปี ทั้งนี้การขยายกำลังการผลิตดังกล่าวเพื่อเป็นการรองรับการเติบโตของบริษัทอีกทั้งยังเป็นการรองรับการทำตลาดในแถบภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

"แม้ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจกิจเมืองไทยจะมีการชะลอตัว แต่บริษัทก็มีการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมองว่าการที่เศรษฐกิจมีชะลอตัวมองได้ทั้งแง่บวกและลบ กล่าวคือ หากมองในแง่บวกก็ถือเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตหลังจากที่คู่แข่งอาจจะมีการชะลอแผนงาน ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้ต่อเนื่องตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เป็นผลจากการที่บริษัทเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง"

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปีที่ผ่านมาถือว่ามีการเติบโตเป็นที่น่าพึงพอใจตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 16% หรือมียอดขาย 2.2 พันล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มเครื่องปรับอากาศ 830 ล้านบาท ตู้เย็น 620 ล้านบาท ตู้แช่แข็ง 270 ล้านบาท เครื่องซักผ้า 230 ล้านบาท โทรทัศน์ 230 ล้านบาท และอื่นๆ 20 ล้านบาทตามลำดับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2559