‘ฐากร’วางโรดแมป 8 ข้อ ขับเคลื่อนทิศทาง‘กสทช.’ ลั่นปี 59 เป็นปีโปร่งใสในการทำงาน

11 ม.ค. 2559 | 07:00 น.
ต้องบอกว่าปลายปีที่ผ่านมา กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่กับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 จำนวน 2 ใบอนุญาต และ 900 เมกะเฮิรตซ์อีกจำนวน 2 ใบอนุญาต เพื่อให้เอกชนที่ผ่านคุณสมบัติเสนอราคาแข่งขันเพี่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4 จี

ทั้งนี้คลื่นทั้ง 2 ความถี่ที่นำออกมาประมูลสร้างสถิติสูงถึง2.327 แสนล้านบาทแบ่งเป็นคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 8.077หมื่นล้านบาท และ คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 1.519 แสนล้านบาท

การประมูลเมื่อปลายปีที่ผ่านมาแข่งขันกันเลือดสาดถึง 4 วัน 4 คืน อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และ สร้างผลงานอันโดดเด่นให้กับ กสทช.เลยทีเดียว เพราะการประมูลครั้งนี้ถือได้ว่ามีความโปร่งใส
เป็นเพราะผลงานการประมูลที่เข้าตารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. ส่งผลให้ กสทช. ต้องออกมาประกาศทิศทางการดำเนินงานของ กสทช.ในปี 2559 โดยครั้งนี้มี เลขาธิการ กสทช. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวกับผู้บริหารสำนักงาน กสทช. โดยวางนโยบาย 8 ข้อหลัก

 ย้ำค่าบริการ 4 จีต้องไม่สูงกว่า 3 จี

เรื่องแรก งานกำกับดูแลต้องมีความรวดเร็ว เข้มข้น ทั้งทางด้านกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำหรับเรื่องกิจการโทรคมนาคม จะกำกับดูแลอัตราค่าบริการ 4จี บนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะเปิดให้บริการในปีนี้ต้องไม่เกินอัตราค่าบริการ 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในระบบเสียงและดาต้า โดยจะต้องมีการคิดอัตราค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีในทุกแพ็กเกจ

ด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์จะมีการกำกับดูแลเนื้อหาอย่างจริงจัง กรณีการออกอากาศเนื้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคง หมิ่นสถาบัน จะต้องมีการระงับการออกอากาศทันที และจะมีการดำเนินคดีอาญา ส่วนเนื้อหาที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ เช่น ผิดกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะมีการดำเนินการตามกฎหมายลงโทษในทันทีเพื่อให้คำสั่งทางปกครองใช้ได้ผล

เรื่องที่ 2 เร่งรัดให้ได้ข้อยุติเรื่องรายได้จากการประกอบการบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2556 ขณะนี้ได้ผ่านพ้นมา 2 ปีเศษแล้ว ซึ่งรายได้ดังกล่าวจะต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน จากนั้นจึงให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการนำเสนอบอร์ด กทค. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อบอร์ด กทค. จะได้พิจารณาต่อไป

 เปิดประมูลเลขสวย

เรื่องที่ 3 เร่งจัดหาผู้บริหารจัดการประมูลเลขสวยให้แล้วเสร็จภายในเดือน เมษายน 2559 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารของผู้ที่จะเข้าร่วมบริหารจัดการเลขสวย โดยผู้เสนอรายได้ให้กับรัฐสูงสุดจะเป็นผู้ดำเนินการและจะมีการประมูลเลขสวยดังกล่าวภายในเดือน มิถุนายน 2559 เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

 แก้ไขปัญหาทีวีดิจิตอล

เรื่องที่ 4 แก้ไขปัญหาทีวีดิจิตอล โดยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานในระดับสำนักงาน โดยมี กสท. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์) เป็นที่ปรึกษา และมีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง และผู้แทนจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน เพื่อรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ได้ข้อสรุปเสนอต่อ กสทช. ก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคสช. เพื่อขอรับนโยบายแก้ไขปัญหาต่อไป

เรื่องที่ 5 เร่งรัดนำเงินที่อยู่ในซิมเติมเงินที่ค้างอยู่ในระบบที่ประชาชนไม่ได้มาขอรับจำนวนกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้มาลงทะเบียนซิม โดยจะเร่งหาแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไรให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อนำเงินดังกล่าวนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะให้ตรงตามวัตถุประสงค์ต่อไป

เรื่องที่ 6 เร่งรัดคณะทำงานที่ตั้งโดยสำนักงาน กสทช. ในการแก้ปัญหาวิทยุชุมชนของวิทยุเสียงธรรมให้ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไรภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน เพื่อที่จะหาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และราชเลขาธิการ เพื่อขอรับนโยบายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

เรื่องที่ 7 การบริหารจัดการเลขหมายที่ไม่ได้ใช้งาน แต่ไม่สามารถส่งคืนสำนักงาน กสทช. ได้เนื่องจากหลักเกณฑ์การส่งคืนเลขหมายต้องส่งคืนเป็นกลุ่มเลขหมาย ซึ่งขณะนี้มีเลขหมายที่ไม่ได้ใช้งานอยู่จำนวน 100 ล้านเลขหมาย จะทำให้เลขหมายดังกล่าวไม่สามารถนำมาจัดสรรใหม่ได้ ต้องมีการแก้กฎเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อนำเลขที่ไม่ได้ใช้งานมาใช้งานใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ และสำนักงาน กสทช. ไม่ต้องเพิ่มเลขหมายเป็น 11 หลักต่อไป

 ชูเป็นองค์กรแห่งความโปร่งใส

เรื่องที่ 8 จะดำเนินการให้สำนักงาน กสทช. เป็นองค์กรแห่งความโปร่งใส การประมูล การดำเนินการ การออกใบอนุญาตทุกขั้นตอน ให้องค์กรนี้โปร่งใสทุกรูปแบบเปรียบเสมือนการประมูล 4จี ที่ผ่านมา

ฐากร ย้ำอีกครั้งว่า ในปีนี้เป็นปีแห่งความโปร่งใสในการทำงานของสำนักงาน กสทช. โดยจะมุ่งเน้นหนักในเรื่องการกำกับดูแล เราจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. จะเป็นอีกปีที่ผู้บริหารและพนักงานทุกคนจะทำงานด้วยความทุ่มเทเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2559