ฮิตาชิฯ ชี้5 เทรนด์ดิจิตอล กำหนดทิศทางไอที- ธุรกิจในเอเชีย - แปซิฟิกปี 59

12 ม.ค. 2559 | 06:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ชี้เทรนด์ดิจิตอลมาแรง กำหนดทิศทางของระบบสารสนเทศและธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกในปี 2559 ดันธุรกิจก้าวสู่การปรับตัวครั้งใหญ่ ตามด้วยเมืองอัจฉริยะ ระบบไอทีแบบ Cross-modal, Multi-Cloud และ กระแสการจ้างงานไอทียุคใหม่

นายเอเดรียน เดอ ลูกา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ เอเชีย แปซิฟิกฯ เปิดเผยว่าองค์กรต่างๆ จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สู่ระบบดิจิตอลในปี 2559 เพื่อเตรียมพร้อมรับรูปแบบการทำงานต่างๆ ทั้งฝ่ายที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีในองค์กร โดยการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิตอลกำลังจะกลายเป็นประเด็นสำคัญขององค์กรอย่างรวดเร็ว โดยผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศ หรือ ซีไอโอ จะไม่ได้เป็นผู้นำหลักในการเปลี่ยน แต่ผู้บริหารในทุกภาคส่วนต่างๆในองค์กรจะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารฝ่ายการตลาด หรือ ซีเอ็มโอ จะพบว่ากลยุทธ์การตลาดแบบเดิมๆ จะไม่ได้ผลอีกต่อไป โดยที่ ทุกภาคส่วนต้องปรับมุมมองใหม่ด้วยการใช้ระบบดิจิตอลมาช่วยในการทำงาน

โดย 5 แนวโน้มหลักที่จะกำหนดทิศทางของระบบสารสนเทศและธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกในปี นี้คือ 1. องค์กรที่ไม่เคยปรับตัวจะก้าวสู่ระบบดิจิตอล โดยผลสำรวจของ Gartner CIO Agenda Insights report ปี 2558 รายงานว่า ในปีที่ผ่านมา ซีไอโอคาดหวังว่ารายได้ของธุรกิจจากช่องทางดิจิตอล 16% แต่ในปีนี้ตัวเลขดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเกิน 2 เท่าไปเป็น 37% จึงเป็นการตอกย้ำว่าการใช้ระบบดิจิตอลจะไม่ได้ถูกผลักดันจากฝ่ายสารสนเทศอีกต่อไป หากแต่ผู้นำของทุกภาคส่วนได้ริเริ่มสร้างแพลตฟอร์มและหันมาใช้ระบบดิจิตอล เพื่อการใช้งานของฝ่ายด้วยตัวเอง

2. บริษัทอัจฉริยะจะช่วยสร้างเมืองอัจฉริยะ โดยเมืองอัจฉริยะเป็นประเด็นที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้ความสนใจมานาน มีหลายประเทศเริ่มโครงการมากมายเพื่อตอบโจทย์ด้านต่างๆ ตั้งแต่ร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ได้ลงทุนในระบบอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things : IoT) และนำทรัพย์สินทางปัญญาของตนพร้อมกับพันธมิตรในกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาโซลูชันที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เป็นรูปธรรมได้ร่วมกัน

3. ระบบสารสนเทศแบบ Cross-modal จะรวมธุรกิจเป็นหนึ่งเดียว โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าองค์กรฝ่ายสารสนเทศมี 2 รูปแบบในการตอบสนองความต้องการขององค์กรดิจิตอล ได้แก่ รูปแบบที่ 1 แอพพลิเคชันที่รองรับระบบการบันทึกแบบเดิมๆ อาทิ ระบบบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (ซีอาร์เอ็ม)และอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งระบบเหล่านี้ถูกสร้างภายใต้การคาดคะเนได้ ความแม่นยำ และการพร้อมใช้งาน เพื่อรองรับข้อมูลที่มีความสำคัญกับองค์กร , รูปแบบที่ 2 ระบบสำหรับข้อมูลเชิงลึกที่ต้องอาศัยการทำงานเชิงลึก อาทิ การวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า

4. ระบบ Multi-Cloud ช่วยต่อยอดธุรกิจระหว่างภูมิภาค ซึ่งการเกิดขึ้นของความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership (TPP) จะสร้างประโยชน์อย่างมากให้กับภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกด้านเงื่อนไขการค้าและเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงดังกล่าว การลงทุนด้านโครงสร้างเทคโนโลยีจึงมีความจำเป็นเพื่อเชื่อมต่อภูมิภาคเศรษฐกิจนี้ โดยหลายองค์กรได้มีการริเริ่มเพิ่มศักยภาพให้ดาต้าเซ็นเตอร์ โดยการใช้ระบบคลาวด์คอมพิวติ้งมากขึ้น นอกจากนี้ยังลงทุนด้านการพัฒนาการเชื่อมต่อความเร็วสูงระหว่างประเทศ

และ 5. การขาดแคลนทักษะจะสร้างกระแสการจ้างผู้เชี่ยวชาญ โดยในปี 2558 จะมีหลายปัจจัยกระทบต่อตลาดการจ้างงานในสายเทคโนโลยี ส่งผลให้หลายองค์กรต้องมองหาหนทางในการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านสารสนเทศนี้ไม่ได้เกี่ยวกับแค่การสร้างเด็กจบใหม่ที่มีความชำนาญเฉพาะทางอย่างสาขา Data Science หากต้องรวมถึงการสร้างศักยภาพให้กับพนักงานในองค์กรที่มีอยู่เดิมเพื่อเติมเต็มช่องว่างในระยะยาว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2559