“ปลัดพสุ”จ่อชงครม.2 มาตรการหนุนอุตฯเป้าหมายพบลงทุนเฉียด2แสนล.

26 ม.ค. 2561 | 09:20 น.
“ปลัดพสุ” เล็งชง 2 มาตรการส่งเสริมอุตฯ เป้าหมาย เสนอ ครม. ในเดือน ก.พ. 61 ยอดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปี60 ตั้ง-ขยายโรงงานเกือบ 1,500 โรง ลงทุนใหม่เกือบ 2 แสนล้าน

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่าปี 2561 กระทรวงฯได้เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้พิจารณามาตรการส่งเสริม 2 อุตสาหกรรม ตามแผนพัฒนาและขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) คือ 1.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ โดยผลักดันโครงการเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) ผ่านคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้การสานพลังประชารัฐ

pasu

โดยการนำของภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ยุค 4.0 คือ การทำเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farming) อาทิ การเกษตรแม่นยำสูงด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และเครื่องจักรกลการเกษตรอย่างเต็มประสิทธิภาพ และการสร้างศูนย์อุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (Bio refinery Complex) เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยขณะนี้มีโครงการนำร่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ โครงการอุตสาหกรรมน้ำตาลครบวงจร (Sugar Complex) ที่ จ.นครสวรรค์ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio refinery) ที่ จ.ขอนแก่น รวมถึงโครงการอุตสาหกรรมแปรรูปปาล์มครบวงจร (Palm Complex) ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว

 

และ 2.อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป จะเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากเดิมไปสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูงบนฐานของนวัตกรรม ได้แก่ อาหารสุขภาพและอาหารแห่งอนาคต เช่น อาหารเชิงสุขภาพที่ปรับลดปริมาณอาหารให้เหมาะสมต่อความต้องการพลังงาน รวมถึงการยกระดับวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตยา สมุนไพร ให้มีการผลิตเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยทั้ง 2 มาตรการข้างต้น คาดว่าจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561

 

pasu2

อนึ่งในปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ 2 มาตรการ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เป้าหมายเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า และรักษาฐานการผลิตยานยนต์ระดับโลกให้อยู่ในประเทศไทยต่อไป โดยผลักดันให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (xEV) และการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เกี่ยวข้อง และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป้าหมายภายใน 5 ปี จะมีการลงทุนขยายตัว 200,000 ล้านบาท มีการใช้หุ่นยนต์ที่ผลิตภายในเพิ่มขึ้น ร้อยละ 50 และลดการนำเข้าหุ่นยนต์จากต่างประเทศลง ร้อยละ 30

728x90-03-3-503x62-3-503x62

นายพสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2560 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้จัดเก็บสถิติ กลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มียอดการแจ้งประกอบและขยายกิจการโรงงาน จำนวนรวม 1,487 ราย เงินลงทุน 182,577 ล้านบาท มีการจ้างใหม่ จำนวน 91,563 คน โดยอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เงินลงทุน 92,338 ล้านบาท อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เงินลงทุน 41,840 ล้านบาท และอุตสาหกรรมยานยนต์ เงินลงทุน 35,804 ล้านบาท ทั้งนี้อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ได้รับใบอนุญาตประกอบและขยายกิจการมากที่สุด 974 โรงงาน รองลงมา อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 175 โรงงาน และอุตสาหกรรมยานยนต์ จำนวน 111 โรงงาน

e-book