เดินหน้าปฏิรูประบบขนส่ง เปิดเส้นทางใหม่-รองรับโครงข่ายรถไฟฟ้า

28 ม.ค. 2561 | 06:09 น.
ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ยังคงเดินหน้ายกระดับการให้บริการรถโดยสารสาธารณะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่องตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ยกเลิกมติครม.เดิมที่ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นผู้เดินรถรายเดียว ทำให้ขสมก. มีสถานะเป็นผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่ง ส่วนรถร่วม ขสมก. เดิมจะต้องขอใบอนุญาตประกอบการเดินรถกับ ขบ.โดยตรง

++เปิดแนวทางปฏิรูปเดินรถ
ทั้งนี้นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวทางการยกระดับการให้บริการรถโดยสารสาธารณะด้วยรถโดยสารมาตรฐานใหม่ตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่า ล่าสุดขบ.ได้เปิดตัวความพร้อมให้บริการได้แล้ว 2 เส้นทาง เพื่อต้องการเพิ่มทางเลือกด้านการเข้าถึงบริการรถโดยสารสาธารณะและมอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนให้สามารถเชื่อมต่อทุกโหมดการเดินทาง ในการตอบสนองกรณีให้บริการของทุกกลุ่มผู้ใช้บริการเดินทางได้อย่างครอบคลุมด้วยบริการรถโดยสารรุ่นใหม่ เส้นทางใหม่

[caption id="attachment_253251" align="aligncenter" width="334"] สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)[/caption]

นโยบายการดำเนินการเพื่อทำให้เกิดการแข่งขันและการพัฒนาเชิงคุณภาพ เพิ่มทางเลือกและการเข้าถึงการให้บริการด้วยการกำหนดเส้นทางเดินรถใหม่ เพิ่มการเข้าถึงแหล่งชุมชนมากขึ้น ลดการทับซ้อนเส้นทาง โดยทำหน้าที่เป็นระบบรอง (ฟีดเดอร์) รองรับการขยายตัวของรถไฟฟ้าในปัจจุบันและโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และเชื่อมต่อทุกโหมดการเดินทาง (Connectivity) ภายใต้การยกระดับมาตรฐานการคัดเลือกผู้ประกอบการเดินรถด้วย รูปแบบการแข่งขันเชิงคุณภาพ

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ขบ.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมยื่นคำขอประกอบการในเส้นทางนำร่อง 2 เส้นทางซึ่งกำหนดขึ้นใหม่ตามแผนปฏิรูป คือ 1.เส้นทางสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี ใช้เส้นทางทางด่วน ระยะทางรวม 61 กิโลเมตรโดยบริษัท มารัตน์ ทรานสปอร์ต จำกัด ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่ง จำนวนรถ 16 คัน อัตราค่าโดยสาร 13-25 บาท เริ่มให้บริการไปแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 และ 2.เส้นทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต โดยใช้เส้นทางด่วน ระยะทาง 40 กิโลเมตร บริษัท ชัยวิเศษ แทร์นสปอท จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบการ จำนวนรถ 18 คัน อัตราค่าโดยสาร 40 บาทตลอดสาย คาดว่าจะให้บริการภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

โดยขบ.ได้กำหนดคุณสมบัติต้องเป็นนิติบุคคล มีความพร้อมและความเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการเดินรถด้วยมาตรฐานและคุณภาพรถคันใหม่ พร้อมมาตรการในการควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยและการให้บริการด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เช่น รองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระบบตั๋วร่วม (e-Ticket System) ควบคุมการเดินรถด้วยระบบ GPS Tracking จอแสดงความเร็ว Speed Monitor ติดตั้งกล้องวงจรปิด

“ในอนาคตยังเตรียมพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม อาทิ เสียงประกาศ แผนที่การเดินทางป้ายดิจิตอลแสดงชื่อจุดจอดเมื่อถึงแต่ละจุดจอดเพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้อย่างเท่าเทียมอีกด้วย”

728x90-03-3-503x62-3-503x62 ++เดินหน้าศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ
กรณีดังกล่าวเนื่องจากกระทรวงคมนาคมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาประตูการค้าที่รองรับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน ขบ.จึงได้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย บนพื้นที่กว่า 336 ไร่ ใช้งบก่อสร้างจำนวน 1,360 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะแรก จะเน้นการให้บริการเปลี่ยนหัวลาก -หางพ่วง ระหว่างรถบรรทุกไทยกับรถบรรทุกต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่คลังสินค้าศุลกากร คลังสินค้าทัณฑ์บน และอาคารบรรจุสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ให้บริการได้กว่า 2.7 แสนทีอียู ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างและจะเปิดให้บริการระยะแรกในปี 2563

สำหรับระยะที่ 2 จะรองรับการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสู่ระบบราง พร้อมพัฒนาพื้นที่คอนเทนเนอร์ยาร์ดสำหรับการวางตู้คอนเทนเนอร์ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 เพื่อรองรับกับการเปิดให้บริการโครง การรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงินกว่า 7.6 หมื่นล้านบาทที่กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันเปิดประมูลได้ในเดือนมีนาคมนี้

ทั้งนี้ขบ.มีเป้าหมายการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าทั่วประเทศ 22 แห่งภายในปี 2565 ดังนั้นจึงเตรียมขออนุมัติงบประมาณอีกกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อขับเคลื่อนตามแผนก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดชายแดนอีก 10 แห่ง คือนครพนม, แม่สาย (เชียงราย), ตาก, หนอง คาย, มุกดาหาร, สระแก้ว, สงขลา, นราธิวาส, ตราด, กาญจนบุรี และยังก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าเมืองหลักอีก 8 แห่งต่อเนื่องกันไป คือ เชียงใหม่, พิษณุโลก, นครสวรรค์, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี, และปราจีนบุรี ซึ่งศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนมมีแผนจะดำเนินการต่อจากศูนย์ฯเชียงของดังกล่าว

“จากข้อมูลของกรมศุลกากรพบว่าในปี 2559 มูลค่าส่งออกการค้าด่านศุลกากรเชียงของได้กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการในปี 2564 จะเพิ่มเป็นกว่า 2 หมื่นล้านบาทอีกทั้งเมื่อโครงการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการคงจะสามารถช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่จะส่งผลให้จังหวัดชายแดนกลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อ (HUB) การขนส่งสินค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการเติบโตทางเศรษฐ กิจ อีกทั้งอำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,334 วันที่ 25 - 27 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-11-503x62