‘ช่อคูณ’ปรับกลยุทธ์ สร้างแบรนด์เพิ่มมูลค่า

27 ม.ค. 2561 | 01:50 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

บจก.พรหมมหาราช ปิโตรเลียม ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การทำตลาดเน้นสร้างแบรนด์เพิ่มมูลค่า พร้อมลงทุนขยายโรงงานตอบรับความต้องการของตลาด เชื่อปี 61 รายได้โต

นายศิริพัฒน์ มีทับทิม กรรมการผู้จัดการ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท พรหมมหาราช ปิโตรเลียม จำกัดผู้ผลิตและจำหน่ายสมุนไพรไทยภายใต้แบรนด์ “ช่อคูณ” (CHORKOON)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำตลาด โดยหันมามุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์มากกว่าการนำไปฝากขายตามร้านต่างๆ รวมถึงการเช่าพื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เหมือนที่ผ่านมา และการออกงานแสดงสินค้าเพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก

TP13-3334-1C ทั้งนี้ มองว่ากลยุทธ์การทำตลาดในรูปแบบเดิมแม้จะมียอดขายในปริมาณที่มาก แต่ก็มีเรื่องของต้นทุนเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญของธุรกิจที่ทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนโดยการทำตลาดในรูปแบบใหม่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มีวางจำหน่ายทั่วไป เพื่อทดสอบว่ามีลูกค้าที่ติดตามอยู่หรือไม่ หรือกลุ่มลูกค้าที่แท้จริงเป็นกลุ่มใด โดยปัจจุบันช่องทางการจำหน่ายของแบรนด์ “ช่อคูณ” จะอยู่ที่เพจเฟซบุ๊ก และไลน์แอด (Line@) เป็นหลัก โดยที่ลูกค้าจะสามารถติดตามข้อมูลการเคลื่อนไหวได้ว่าจะมีการไปออกงานที่ไหนบ้าง เมื่อไหร่ โดยเมื่อไปออกงานก็จะมีผู้ที่สนใจเข้ามาติดต่อเพื่อขอนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บริษัทก็ไม่ได้ให้ทุกรายที่มาติดต่อแต่จะเลือกจุดของทำเลที่สะท้อนภาพของแบรนด์ได้ดีที่สุด เพื่อชูภาพลักษณ์มาเป็นจุดขาย

“การเปลี่ยนรูปแบบการทำตลาดเราจะไม่ได้เน้นที่ยอดขาย เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายอยู่หลายจุดตามสถานที่ต่างๆ แต่ก็ต้องหมดไปกับต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ เพราะฉะนั้นเราจึงหันมามุ่งเน้นที่การดูแลลูกค้า เพราะเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ของเราดีจริง และลูกค้าก็มีการบอก ต่อ หรือแนะนำผู้อื่นให้ใช้”

TP13-3334-2C นายศิริพัฒน์ กล่าวต่อไปอีกว่า บริษัทกำลังดำเนินการลงทุนก่อสร้างโรงงาน เพื่อตอบสนองความต้องการ และให้สอดรับกับกลยุทธ์การทำตลาดที่ได้มีการปรับเปลี่ยน เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้มีการจำกัดยอดขายไม่ให้มีการเติบโตมากนัก เพื่อทดสอบตลาดว่ามีลูกค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์มากน้อยแค่ไหน รวมถึงเมื่อใช้แล้วเกิดการซื้อซ้ำหรือไม่ และที่สำคัญเป็นการทดสอบสูตรสมุนไพรว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด โดยที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าใช้งานได้จริง และมีความต้องการจากลูกค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก

“กลยุทธ์ที่สำคัญของเราอีกรูปแบบหนึ่งก็คือการไม่ทำธุรกิจแบบโดดเดี่ยว แต่จะรวมคนที่ทำธุรกิจแบบเดียวกันเป็นกลุ่ม โดยปัจจุบันได้มีการก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์แปรรูป (nonfood) ซึ่งเป็นการรวมตัวกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในธุรกิจเดียวกัน โดยสังกัดกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ล่าสุดมีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกอยู่ประมาณ 20 ราย จากกลยุทธ์การทำตลาด และการขยายโรงงานการผลิตคาดว่าในปี 2561 บริษัทจะมีรายได้มากกว่า 5 ล้านบาท จากเดิมที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาทเมื่อปีที่ผ่านมา”

728x90-03-3-503x62-3-503x62 สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ช่อคูณ” นั้น อยู่ที่การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสมุนไพร และนำเสนอโดยมีพื้นฐานมาจากตำราแพทย์แผนไทยในพระคัมภีร์ตักศิลา ซึ่งเป็นศาสตร์การรักษาฉบับโบราณ ทำให้รู้ว่าสมุนไพรมีสาระสำคัญอะไร และมีผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง โดยผลิตภัณฑ์ของเราเป็นสมุนไพรที่ใช้ภายนอก แต่ให้ผลลัพธ์ที่มากกว่านั้น ยกตัวอย่างเช่น สบู่ ซึ่งจะไม่ใช้เพียงแค่ใช้ถูแล้วล้างน้ำให้ร่างกายสะอาดเท่านั้น แต่จะมีคุณสมบัติทางด้านการประสานผิว เสมือนผู้ใช้ได้อาบน้ำที่ต้มจากสมุนไพร โดยหากเป็นขั้นตอนตามแบบฉบับโบราณจะต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก

ด้านผลิตภัณฑ์ของ “ช่อคูณ” จะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบไปด้วย 1.ประเภทล้างออก เช่น แชมพู เจลอาบน้ำ โดยทำตามหลักของการถอนพิษ 2.ประเภททา ซึ่งจะมีคุณสมบัติในการปรับสมดุลให้กับผิว โดยเป็นไปตามหลักการแพทย์แผนไทย ซึ่งเชื่อว่าหากผิวมีความสมดุลก็จะเป็นแรงต่อต้านไม่ให้สารเคมีต่างๆเข้ามาสู่ร่างกายได้ และ 3.ประเภทที่ใช้ในช่องปาก เช่น ยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปาก เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,334 วันที่ 25 - 27 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9