เปิดฉาก‘เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม’ โลกเผชิญ 5 ภัยคุกคาม

27 ม.ค. 2561 | 02:00 น.
เวทีการประชุมเศรษฐกิจโลก “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม” (WEF) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 มกราคม โดยธีมงานในปีนี้ (Creating a Shared Future in a Fractured World) ว่าด้วยเรื่อง “การสร้างอนาคตร่วมกันในโลกที่มีความแปลกแยกแตกต่าง” มีการวางเนื้อหาการเสวนามากกว่า 400 หัวข้อไว้ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่จะมีผลต่ออนาคต นอกจากผู้นำรัฐบาลของประเทศต่างๆที่มาร่วมงานแล้ว ยังมีผู้นำทางความคิด และผู้ทรงอิทธิพลมาร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนทรรศนะและประสบการณ์เพื่อนำเสนอมุมมองและทางออกให้กับสถานการณ์โลกในปัจจุบันและอนาคต

ส่วนหนึ่งของผู้ทรงอิทธิพลในโลกธุรกิจและเทคโนโลยีที่ยืนยันมาร่วมงานแล้วนั้นได้แก่ บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ไมโครซอฟท์ ซึ่งปัจจุบันผันตัวเองไปทำโครงการด้านมนุษยธรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในหลายประเทศทั่วโลก เขาจะมาร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “A New Era for Global Health” ว่าด้วยการนำนวัตกรรมมาช่วยยกระดับงานด้านอนามัยและสาธารณสุขชุมชน ปิดช่องว่างของการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอนามัยของผู้คนทั่วโลก
ดารา คอสโรว์ชาฮี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อูเบอร์ แอพพลิเคชั่นฯบริการรถโดยสารส่วนตัวผ่านสมาร์ทโฟน จะขึ้นร่วมเวทีเสวนากับ มาร์ค เบนิยอฟ จากบริษัท เซลส์ฟอร์ซฯ และ รูธ พอราต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อัลฟาเบ็ทฯ ถกกันถึงเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจากฝั่งภาคเอกชนและความน่าเชือถือในสายตาของประชาชน

[caption id="attachment_253027" align="aligncenter" width="503"] ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่สหรัฐอเมริกา ชิลี และโปรตุเกส เผชิญไฟป่าที่รุนแรงที่สุด ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่สหรัฐอเมริกา ชิลี และโปรตุเกส เผชิญไฟป่าที่รุนแรงที่สุด[/caption]

อีกคนที่หลายฝ่ายรอฟังทรรศนะและแผนธุรกิจของเขาคือ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซจากจีน หม่าจะบรรยายในหัวข้อ “Enabling Ecommerce: Small Enterprises, Global Players” (เสริมเขี้ยวเล็บอี-คอมเมิร์ซ วิสาหกิจขนาดเล็กสู่ผู้เล่นระดับโลก) เนื้อหาว่าด้วยเรื่องนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของนานาประเทศนั้น ควรจะมีเนื้อหาหรือรูปร่างอย่างไร จึงจะก่อประโยชน์ให้กับบรรดาผู้ประกอบการที่มีรายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ขณะที่ สัตยา นาเดลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมโคร ซอฟท์ฯ จะขึ้นพูดในหัวข้อการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ที่มีผลต่อสังคมซึ่งในปีนี้เขาจะเน้นในแง่ผลที่มีต่อการปฏิวัติงานด้านสาธารณสุขด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ ส่วนซันดาร์ พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กูเกิลฯ ผู้ได้รับฉายาว่า “วิศวกรอัจฉริยะ” และเป็นคนอินเดียคนแรกที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของกูเกิลด้วยวัยเพียง 43 ปี เขาจะมาแลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นที่หลายคนตั้งตารอคอย นั่นคือ อนาคตและยุคสมัยของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และผลกระทบของเทคโนโลยีดังกล่าวที่มีต่อสังคม

TP10-3334-2A ++ความเสี่ยงที่โลกต้องเผชิญ
ก่อนการประชุม WEF มีการนำเสนอรายงาน Global Risks Report 2018 ว่าด้วยความเสี่ยงนานัปการที่โลกกำลังเผชิญ พบว่า สิ่งที่ถูกจัดเป็นความเสี่ยง 5 อันดับแรกที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อโลกมากที่สุดในระยะ 10 ปีข้างหน้านั้น เรียงตามอันดับได้แก่ 1) ความเสี่ยงจากอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง 2) สภาพอากาศที่มีความรุนแรง 3) ภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ 4) ความไม่สามารถบรรเทาและปรับตัวรับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และ 5) วิกฤติเกี่ยวกับนํ้า

รายงานความเสี่ยงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่อยู่ในขั้นรุนแรงและภัยธรรมชาติที่หนักหน่วงมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต (รายงาน Global Risks มีการจัดทำมา 13 ปีแล้ว) ปีที่ผ่านมา (2017) เป็น 1 ใน 3 ปีที่โลกเคยทำสถิติอุณหภูมิร้อนที่สุด และเป็นปีที่สหรัฐอเมริกา ชิลี และโปรตุเกส เผชิญไฟป่าที่รุนแรงที่สุด นำไปสู่การสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล รวมทั้งยอดผู้เสียชีวิตที่สูงมาก เช่นที่โปรตุเกส ยอดผู้เสียชีวิตจากไฟป่าในปีที่ผ่านมามีมากกว่า 100 คน อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปัจจุบันมีโอกาส 5% ในรอบ 10 ปีที่ภัยธรรมชาติจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้กับการผลิตข้าวโพดทั้งในจีนและสหรัฐอเมริกา (ทั้ง 2 ประเทศมีผลผลิตรวมกันเท่ากับ 60% ของผลผลิตข้าวโพดทั่วโลก) ซึ่งจะก่อให้เกิดภัยในรูปแบบอื่นๆตามมา เช่น ความอดอยาก

728x90-03-3-503x62-3-503x62 ในปีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยชาวเยอรมันพบว่า จำนวนแมลงที่มีความสำคัญต่อระบบอาหารในระยะ 27 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนลดลงถึง 75% สะท้อนถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดน้อยลง ซึ่งจะมีผลต่อระบบนิเวศ ความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพนี้ส่วนใหญ่เกิดจากนํ้ามือมนุษย์ ซึ่งมาในรูปการถากถางพื้นที่ทำการเพาะปลูก การทำเหมืองแร่ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการขุดเจาะและผลิตนํ้ามัน-ก๊าซธรรมชาติ การทำปศุสัตว์เพื่อป้อนโรงงานชำแหละเนื้อเพื่อการบริโภคก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบนิเวศและการทำการเกษตร

รายงานความเสี่ยงโลกที่เผยแพร่โดย WEF ยังชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงจากมลพิษที่เป็นสาเหตุของการตาย โดยตัวเลขล่าสุดชี้ว่า ในทุกๆ 10 การตายทั่วโลก 1 ในนั้นเป็นการตายที่มีสาเหตุจากปัญหามลพิษ และนอกจากนี้ ประชากรโลก 90% ยังอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษสูงเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด การขยายตัวของเมืองขนาดใหญ่ในระดับเมกะซิตี (megacity) เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหาดังกล่าวเพิ่มระดับความรุนแรง กระนั้นก็ตาม ความเสี่ยงที่เพิ่มระดับของผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ในโลกทุกวันนี้ยังมาจากเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรม และทำให้คนงานโรงงานถูกผลักเข้าข่าย “ภาคบริการในระดับล่างสุด”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,334 วันที่ 25 - 27 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9