ส่งออกไก่ลุ้นโต 1.04 แสนล้าน ยูเครน-เวียดนามคู่แข่งรายใหม่-บาทแข็ง ค่าแรงพุ่งตัวป่วน

27 ม.ค. 2561 | 03:12 น.
ส่งออกไก่ปี 61 แข่งเดือด ยูเครน เวียดนาม คู่แข่งใหม่รุมแย่งตลาดไทยในอียู-ญี่ปุ่น สมาคมผู้ผลิตไก่ฯตั้งเป้า 8.1 แสนตัน มูลค่ากว่า 1.04 แสนล้านบาท ได้แมคโดนัลด์ในญี่ปุ่นลูกค้ารายใหญ่ ขณะปัจจัยเสี่ยงเพียบทั้งบาทแข็ง ค่าแรงพุ่ง ต้นทุนอาหารสัตว์ขยับ

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2561 ในเบื้องต้นทางสมาคมฯได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูป (ไก่ปรุงสุก) ที่ 8.1 แสนตัน มูลค่าประมาณ 1.04 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.5% ทั้งด้านปริมาณ และมูลค่าเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่คาดจะส่งออกได้ 7.9 แสนตัน มูลค่า 1.01 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขอย่างเป็นทางการการส่งออกสินค้าไก่ของไทยในช่วง 11 เดือนแรกปี 2560 ส่งออกแล้ว 7.2 แสนตัน มูลค่า 9.28 หมื่นล้านบาท (ดูกราฟิกประกอบ) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.3% ทั้งด้านปริมาณ และมูลค่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559

“ตลาดส่งออกหลักสินค้าไก่ของไทยช่วง 11 เดือนแรกปี 2560 ญี่ปุ่นสัดส่วน 53% สหภาพยุโรป(อียู) 35% ที่เหลืออีก 12% เป็นตลาดอื่น ๆ ได้แก่ อาเซียนและเอเชียได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา เกาหลีใต้ ฮ่องกง รวมถึงตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งในจำนวนนี้ตลาดเกาหลีใต้มีปริมาณส่งออกไปมากสุด ที่ 2.16 หมื่นตัน ผลจากเกาหลีใต้ได้อนุญาตให้เราส่งออกสินค้าไก่ไปเกาหลีได้เมื่อปลายปี 2559 จากที่ได้ยุติการนำเข้ามา 12 ปีหลังไทยมีปัญหาไข้หวัดนก”

TP08-3334-1B ขณะที่ในปีนี้มีปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าไก่ของไทยได้แก่ ตลาดญี่ปุ่นคาดจะยังมีการนำเข้าต่อเนื่อง โดยเวลานี้สินค้าไก่ปรุงสุกของไทยสามารถเจาะตลาดญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของการผลิตป้อนร้านแมคโดนัลด์ทั่วญี่ปุ่นของผู้ผลิตบางราย (บริษัทคาร์กิลล์ มีทส์ (ไทยแลนด์), บริษัทจีเอฟพีที นิชิเร (ประเทศไทย)ฯ, บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารฯหรือซีพีเอฟ) และเจาะตลาดช่องทางมินิมาร์ต คอนวีเนียนสโตร์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคในญี่ปุ่น นอกจากนี้มีปัจจัยจากตลาดอาเซียนและเอเชียข้างต้นยังมีความต้องการต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีในปีนี้มีปัจจัยลบต่อการส่งออกสินค้าไก่ของไทยค่อนข้างมาก ได้แก่ เงินบาทที่แข็งค่ามาก กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน,ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งกากถั่วเหลือง ข้าวโพดปรับตัวสูงขึ้นกระทบต้นทุน, ผลผลิตไก่ทั่วโลกและผลผลิตไก่ในไทยมีมาก มีผลให้ราคาไก่ส่งออกลดลง เช่น ราคาไก่สดแช่แข็งของไทยไปญี่ปุ่นช่วงไตรมาสแรกปีนี้ลดลงเหลือ 2,800-2,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน จากปลายปีที่แล้วอยู่ที่ระดับ 3,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน, ขณะที่ไทยมียูเครนเป็นคู่แข่งรายใหม่ในตลาดอียู ซึ่งยูเครนมีความได้เปรียบอยู่ใกล้ตลาดมากกว่า และมีต้นทุนการผลิตด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ตํ่ากว่าจากเป็นแหล่งผลิตข้าวโพดและข้าวสาลี โดยเมื่อปี 2560 การส่งออกสินค้าไก่ของยูเครนเข้าอียูมีปริมาณ 3-4 หมื่นตัน ปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 หมื่นตัน

728x90-03-3-503x62-3-503x62 “ขณะเดียวกันในตลาดอียู ล่าสุดในปลายปีที่ผ่านมา ผู้นำเข้าได้เข้าไปดูสินค้าไก่ปรุงสุกจากเวียดนามว่าสามารถพัฒนาแข่งขันในตลาดอียูได้หรือไม่ ซึ่งเวลานี้เวียดนามมีเอฟทีเอกับอียู หากเขาพัฒนาสินค้าได้จะเป็นคู่แข่งรายใหม่ของไทยในตลาดอียู ส่วนญี่ปุ่นก็ได้ไปตรวจรับรองโรงงานไก่แปรรูปในเวียดนามรวมถึงโรงงานในอินโดนีเซีย น่าจับตาเวียดนามจะเป็นคู่แข่งรายใหม่ของไทยในตลาดอียูและญี่ปุ่นในอนาคต”

ด้านนางฉวีวรรณ คำพา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ในเครือฉวีวรรณ ผู้ผลิตและส่งออกไก่แปรรูปมีตลาดหลักที่สหภาพยุโรป กล่าวว่า นอก จากปัจจัยลบข้างต้นแล้ว ล่าสุดจากการเตรียมปรับขึ้นค้าจ้างขั้นตํ่าของไทยอีก 5-22 บาทต่อวันทั่วประเทศ ในส่วนของเครือมีฐานผลิตที่จ.ชลบุรีค่าจ้างขั้นตํ่าจะปรับขึ้นจาก 308 เป็น 330 บาท/วัน ซึ่งจากที่เครือมีคนงานรายวันกว่า 4,000 คน ส่วนใหญ่เป็นต่างด้าว คาดจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอีก 0.5% และบาทยังแข็งค่ามากขึ้น ทั้ง 2 ปัจจัยหลักนี้ถือเป็นภาระที่ต้องบริหารจัดการให้ได้เพื่อความอยู่รอด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,334 วันที่ 25 - 27 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9