รับเหมา-ค้าปลีกอ่วมค่าแรงขึ้น

24 ม.ค. 2561 | 05:10 น.
นักวิเคราะห์ชี้ผลกระทบปรับค่าแรงขั้นตํ่ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์-รับเหมาก่อสร้าง-ค้าปลีก กระทบแต่ไม่มากเหตุขึ้นเฉลี่ยทั่วประเทศเพียง 2.6%

มติคณะกรรมการค่าจ้างที่เห็นชอบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าในทุกจังหวัดประจำปี 2561 โดยเพิ่มขึ้น 5-22 บาท มาอยู่ในช่วง 308-330 บาท/วัน (เฉลี่ย 315.97 บาท/วัน) หากคณะรัฐมนตรีอนุมัติก็จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป

[caption id="attachment_36413" align="aligncenter" width="353"] ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) (บมจ.)[/caption]

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นตํ่า หนีไม่พ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานสูงและมีผลต่อต้นทุน ได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มภาคการผลิต และกลุ่มรีเทลหรือค้าปลีก

ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่กระทบมาก เพราะช่วงหลังการใช้แรงงานเริ่มน้อยลง เพราะหันไปใช้แบบ precast (ผนังบ้านแบบสำเร็จรูป) ดังนั้นต้องดูต่อว่าผู้ประกอบการเหล่านี้จะบริหารต้นทุน หรือหาทางชดเชยอย่างไร แต่ประเมินผลกระทบไม่มาก เพราะขณะเดียวกันกลุ่มที่ได้ประโยชน์ก็คือแรงงานที่จะมีรายได้จับจ่ายเพิ่ม

เช่นเดียวกับความเห็นของนายชัยยศ จิวางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี จก. (มหาชน) กล่าวว่า เซ็กเตอร์หุ้นที่ได้รับผลกระทบ คือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานในโรงงานจำนวนมาก กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มอสังหาริม ทรัพย์ แต่ประเมินผลกระทบเป็นรายหุ้นอาจจะยาก

“โดยรวมแม้การปรับค่าจ้างจะปรับเพิ่มไม่มาก แต่จำนวนแรงงานในกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของแรง งานทั้งประเทศ ถือเป็นกลุ่มใหญ่ และส่วนใหญ่จะกระจุกตัวในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และรับเหมา”

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าผลกระทบจากการปรับค่าแรงไม่มาก อย่างแรงงานในกรุงเทพมหานคร ปรับขึ้นจาก 310 บาทเป็น 325 บาท มีผลต่อเงินเฟ้อเล็กน้อยเท่านั้น แต่แหล่งเงินที่ไปตกกับผู้มีรายได้น้อย กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะไม่ออมเงินอยู่แล้วเมื่อมีรายได้ก็จะใช้จ่าย ดังนั้นการเพิ่มต่อวันต่อคน 5-22 บาททั่วประเทศ ถ้าคำนวณเป็นรายเดือน จะสร้าง multiply effect ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มอย่างแน่นอน เราสนับสนุนเพราะต้นทุนที่เพิ่ม ไม่เท่ากับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ และท้ายสุดจะส่งผลดีกลับมาทางภาคธุรกิจ

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า การปรับค่าจ้างขั้นตํ่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 2.6% ส่งผลกระทบต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่ม 0.3% เงินเฟ้อเพิ่ม 0.06% และจีดีพีลบ 0.02% โดยคาดทั้งปีเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ระดับ 1.1%
ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจภาคบริการที่มักพึ่งพิงแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled labor) และจ่ายค่าจ้างโดยอ้างอิงกับอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าเป็นหลัก ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจร้านอาหารและที่พักแรม รวมถึงธุรกิจผลิตสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มและเฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนภาคเกษตรกรรม ในขณะเดียวกัน ธุรกิจอื่นๆ ที่แต่เดิมจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นตํ่าไม่มากหรือพึ่งพิงแรงงานกึ่งมีฝีมือ (Semi-skilled labors) เป็นหลัก ก็อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,334 วันที่ 25 - 27 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9