‘บิ๊กป้อม’ลุ้นปี59ดับไฟใต้ เอกชนหนุน ‘ประชารัฐ’ ขับเคลื่อนสันติสุข

13 ม.ค. 2559 | 01:00 น.
[caption id="attachment_25872" align="aligncenter" width="600"] เหตุการณ์ความไม่สงบรายเดือนในจังหวัดชายแดนใต้ในปี 2558 เหตุการณ์ความไม่สงบรายเดือนในจังหวัดชายแดนใต้ในปี 2558[/caption]

"สถานการณ์ชายแดนใต้" เป็นอีกเรื่องที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญ โดยแผนงานการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอยู่ในยุทธศาสตร์เร่งรัดรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 นี้ รวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547

คำประกาศของปากของ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เมื่อวันแถลงผลงานด้านความมั่นคงในรอบ 1 ปี ยืนยันว่า สถานการณ์ดีขึ้น ปัญหาต่างๆ ลดลงเกือบ 50 % โดยในปี 2559 นี้ อาจยุติเรื่องการสู้รบในพื้นที่ได้ ก่อนให้สัมภาษณ์กับสื่ออีกครั้ง หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 มกราคม ระบุ ยืนยันว่า สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยหวังว่า ในปี 2559 เหตุการณ์จะน้อยลง หรือ ไม่มีเลย จึงน่าสนใจไม่น้อย

ทั้งนี้ ในรายงานผลการดำเนินงานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และหัวหน้า คสช. ครบรอบ 1 ปี (12 กันยายน 2557- 12 กันยายน 2558 ) ระบุถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาว่า มีการเสนอร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2559-2561 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เน้นแก้ไขปัญหาโดยยึดยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" และ "แนวทางสันติวิธี" ให้ความสำคัญกับการสร้างเอกภาพและบูรณาการของทุกหน่วยงาน และดำเนินการผ่านกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

[caption id="attachment_25873" align="aligncenter" width="600"] สรุปสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2558 สรุปสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2558[/caption]

ขณะที่ข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) รายงาน ณ วันที่ 3 มกราคม 2559 ในวาระครบ 12 ปีไฟใต้ นับตั้งแต่เหตุปล้นปืนครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เหตุรุนแรงรวมทุกประเภทตลอดปี 2558 เกิดขึ้นทั้งสิ้น 701 ครั้ง ลดลงจากปี 2557 ที่มีเหตุรุนแรงรวม 1,210 ครั้ง ลดลง 42.1%

 "ประชารัฐ" มาถูกทาง

นายกันต์พงษ์ ลิ่มกาญจนา ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ยืนยันภาพรวมของสถานการณ์ในพื้นที่ปี 2558 ดีขึ้น เหตุความรุนแรงลดน้อยลง เชื่อมั่นว่า ในปี 2559 สถานการณ์จะดีขึ้นกว่าปี 2558 โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนในพื้นที่ เนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างเป็นทางการแล้ว ส่งผลให้มีการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ยังเป็นเพียงการลงทุนของผู้ประกอบการในพื้นที่ซึ่งมีมูลค่าไม่สูงมากนัก ขณะที่การลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ มักถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่เอง อาทิ การเปิดสาขาของ เคเอฟซี ที่ถูกต่อต้านว่า ไม่เป็นฮาลาล เป็นต้น

"ที่ผ่านมา เมื่อมีการลงทุนเกิดขึ้นในพื้นที่ มักจะถูกต่อต้าน ซึ่งเป็นเพียงบางกลุ่มเท่านั้น แต่เชื่อว่า เมื่อประเทศเข้าสู่เออีซี ซึ่งเป็นการเปิดการค้าเสรี คงไม่สามารถต้านกระแสที่เปลี่ยนไปได้ ในฐานะของภาคเอกชนเราพยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่มาโดยตลอด ซึ่งล่าสุดมีข่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกกำลังจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันแน่ชัด

"เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดยะลานั้น ไม่ใช่เรื่องของความมั่นคง แต่เกี่ยวกับความต้องการของคนกลุ่มหนึ่งที่เสียประโยชน์มากกว่าส่วนแนวทางการทำงานของรัฐบาลแบบประชารัฐนั้น มองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เดินมาถูกทาง โดยที่ผ่านมาหอการค้าทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างเต็มที่อยู่แล้ว"

สอดคล้องกับการรายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ((Deep South Watch)มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่มี ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้วิเคราะห์แนวโน้มเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ สาระสำคัญสรุปได้ว่า ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมารวมทั้งเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2558 มีแนวโน้มเหตุการณ์อาจจะลดลงในปี 2559 แต่มีข้อควรระวังในการวิเคราะห์ "ทิศทาง" การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ด้วย

แม้จะมีข้อมูลแสดงว่าแนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงลดลงจริง เพราะระดับของเหตุการณ์มีทิศทางต่ำลดลงจนถึงปี 2556 เส้นระดับความรุนแรงเปลี่ยนเป็นแนวระนาบจนถึงปัจจุบัน (ปลายปี 2558) แต่ยังมีทิศทางที่สะท้อนให้เห็นภาวะคงที่ของความรุนแรงหรือความยืดเยื้อเรื้อรังของเหตุการณ์ความรุนแรงที่ยังไม่หยุดง่ายๆ ทั้งนี้เกิดจากการต่อสู้กันของพลัง ทางสังคมและการเมืองที่ซ่อนอยู่ภายในความขัดแย้งอยู่

อย่างไรก็ตาม ความไม่สงบในปี 2558 ที่ลดลง ไม่ได้ชี้ขาดว่าในปี 2559 ทิศทางจะลดลงไปอีกถ้าดูที่ความแปรผันของเหตุการณ์ในช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้

แนวโน้มสถานการณ์รุนแรงที่ลดลง ปัจจัยที่สำคัญส่วนหนึ่งคือ การพูดคุยสันติภาพที่เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน การเร่งนโยบายการเมืองนำการทหารของกองทัพและการขยายกำลังในการคุมพื้นที่อย่างหนาแน่น

และที่ลืมไม่ได้คือ การเปิดพื้นที่กลางเพื่อสันติภาพในภาคประชาสังคม นั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2559