เปิดเออีซี-เขตพัฒนาศก.พิเศษ แม่เหล็กดูดทัพนักลงทุนบูม 10 จังหวัดชายแดน

11 ม.ค. 2559 | 03:00 น.
การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ที่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ผนวกกับการอ้าแขนรับทัพนักลงทุนให้เข้าพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 จังหวัด ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการเห็นการตอกเสาเข็มของนักลงทุนมากที่สุดในปีนี้ นั่นคือ "แม่สอด-สระแก้ว" จะกลายเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดทัพนักลงทุน

 เออีซีตัวเชื่อม-เขตศก.พิเศษหนุน

แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมา การเชื่อมโยงการค้าชายแดนและค้าข้ามแดน ระหว่างเพื่อนบ้านด้วยกัน หรือใช้เพื่อนบ้านเป็นประตูผ่านไปสู่ประเทศใกล้เคียง อย่างจีน อินเดีย และประเทศในแถบยุโรป โดยเลาะไปตามแนวระเบียงเศรษฐกิจอาเซียน ตามกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบีได้แบ่งเส้นทางคมนาคมไว้ อาทิ เส้นทางอาร์ 3 จากคุนหมิง-ผ่านลาวหรือเมียนมา-เชียงราย-กรุงเทพฯ เส้นทางอาร์ 9 เชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้จากท่าเรือเมาะละแหม่ง-ไทย-ลาว-ท่าเรือดานัง ในเวียดนาม หรือแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ เชื่องโยงไทย-กัมพูชา-เวียดนาม ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปิดเออีซี มุมมองของภาคเอกชนอย่าง "นิยม ไวรัชพานิช" รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า ทุกอย่างจะสะดวกยิ่งขึ้น ที่สำคัญเกิดการรวมกลุ่มทางการค้าระดับอาเซียนที่มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษรวมกันเป็นผืนใหญ่ เช่น ไทยมี 10 จังหวัดมากกว่า 10 แห่ง เมียนมา 7-8 แห่ง เวียดนาม 200 กว่าแห่ง กัมพูชากว่า 10 แห่ง ลาว 25 แห่ง เป็นต้น ที่สามารถขยายตลาดไปทั่วโลก

นอกเหนือไปจากประชากร 600 ล้านคนที่มีอยู่ในมือ ซึ่งจะสอดรับกับนักลงทุนรายใหญ่ของภาครัฐ "ดร.วีระพงศ์ ไชยเพิ่ม" ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ระบุว่า เออีซีจะเป็นตัว "เชื่อม"พัฒนาการค้า การลงทุนไปตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ขณะที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นตัว "เสริม" ให้การค้าแข็งแกร่งขึ้นและได้รับสิทธิ์ประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนที่จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันมากขึ้น ที่สำคัญไทยมีความพร้อมสุด ด้านโครงข่ายคมนาคมที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะเมื่อมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้น รองรับการค้าการลงทุน ก็ยิ่งได้รับการสนับสนุนลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น แต่จะค่อยเป็นค่อยไปตามแผนที่วางไว้

 ทัพลงทุนแห่ปักธงเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวนักลงทุน โดยเฉพาะรายใหญ่ อาทิ ค่ายปตท. ซีพี สหพัฒน์ ฯลฯ ได้ข้ามฝั่งไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน และในประเทศตะเข็บชายแดนก่อนเปิดเออีซีแล้ว โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ภาคบริการ อุปโภคบริโภค ขณะที่ที่ดินรัฐที่เตรียมไว้รับทัพลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กนอ.ระบุว่า มีนักลงทุนในประเทศสนใจเช่าพื้นที่ลงทุนโลจิสติกส์จำนวนมาก รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติ อาทิ สระแก้ว แม่สอด สงขลา ขณะเดียวกันพื้นที่สระแก้ว 600 ไร่ น่าจะเปิดให้ตั้งโรงงานได้ปลายปี 2559 ส่วนนอกเขตนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. น้ำตาลขอนแก่นเข้าพื้นที่ตั้งโรงงานที่อำเภอวัฒนานครเป็นรายแรก

ส่วนพื้นที่อื่นยังติดปัญหาบุกรุก ที่สำคัญสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ระบุว่ามี 41 รายที่จะได้รับการส่งเสริมกระจายในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ส่งผลให้ราคาที่ดินขยับสูงขึ้น อาทิ แม่สอดติดถนนสายเอเชีย ไร่ละ 20-30 ล้านบาท เชียงรายใกล้สะพานข้ามโขง 4 เฉลี่ยไร่ละ 6-7 ล้านบาท มุกดาหารริมโขง ไร่ละ 10 ล้านบาทเป็นต้น

  โอกาสมาพร้อมปัญหา

ขณะที่โอกาสการขยายตัวทางการค้าการลงทุนมาถึง แต่ในทางปฏิบัติยังมีอุปสรรคอีกมาก "ภมร เชาว์ศิริกุล" ประธานหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร ย้ำว่า การเปิดเออีซีในช่วงต้นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมาก ต้องอาศัยเวลา เพราะยังติดปัญหาเกี่ยวกับกฎระเบียบที่มีความต่าง ขณะที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนยังนิ่งๆ ตัวอย่างที่มุกดาหารและหลายพื้นที่ยังไม่คืบหน้า รวมถึงติดปัญหาบุกรุก ราคาที่ดินแพงเกินจริง ผังเมืองยังไม่ชัดเจน โครงสร้างพื้นฐานในประเทศทั้งบก ราง น้ำ อากาศในประเทศยังไม่เชื่อมกันได้อย่างสมบูรณ์โดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ที่ ไทยเราแม้จะได้เปรียบเพื่อนบ้าน แต่ก็ยังไม่ดำเนินการเท่าที่ควร เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือและภาษาที่รัฐบาลจะต้องสนับสนุน เป็นต้น

คงต้องจับตากันต่อว่า หลังเออีซีและมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 จังหวัด เชื่อมโยงและสนับสนุนกันแล้ว จะส่งผลทำให้การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวคึกคักเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว นั่นคือ ราคาที่ดินถูกปั่นจนทะลุเพดาน นายหน้าและเจ้าของที่ดินร่ำรวยไปพร้อมๆ กับการขายที่ดินรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและเออีซีไปก่อนหน้านี้แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2559