อนาคตประเทศไทย

23 ม.ค. 2561 | 23:30 น.
TP07-3334-2A มีการกล่าวถึงกันว่าประเทศไทยจะเป็น ประเทศไทย 4.0 ในอนาคต ถ้าเราสามารถเป็นได้จริง อนาคตเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร และในช่วงเปลี่ยนผ่านพอจะมีดัชนีบ่งชี้หรือตัวแปรตัวใดบ้างที่บอกได้ว่าเรากำลังมาถูกทาง และที่สำคัญเราจะเปลี่ยนประเทศให้ถึงจุดนั้นได้อย่างไร

ประเทศไทยในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมาได้พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและข้อได้เปรียบจากค่าจ้างแรงงานที่ถูก สามารถผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานได้ สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ยกระดับจากประเทศยากจนมาอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางมาเป็นเวลานาน และไม่สามารถก้าวข้ามระดับรายได้ปานกลางไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว

อาทิ ประเทศในแถบเอเชียคือประเทศไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เสมือนว่าประเทศไทยเป็นรถไฟขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์ ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้เป็นรถไฟความเร็วสูง การที่จะทำให้ประเทศไทยวิ่งได้เร็วเท่าประเทศเกาหลีใต้ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบขับเคลื่อน หรือเราต้องเปลี่ยนเครื่องจักรการเติบโตทางเศรษฐกิจ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การพึ่งพาการท่องเที่ยวและแรงงานราคาถูกอย่างเข้มข้นไม่เพียงพอต่อการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ประเทศที่มีรายได้สูงมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมเป็นของตัวเองผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงและมีมูลค่าเพิ่มมาก

TP07-3334-1A นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องมาจากภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์หรือข้อมูลสารสนเทศอย่างเดียว อาจมาจากภาคเกษตรกรรมได้ เช่น ในประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนาสตรอว์เบอร์รี่ และมะม่วงให้มีรสชาติดี มีขนาดใหญ่ และสามารถขายในราคาแพง ส่งออกต่างประเทศและได้รับความนิยม ทั้งๆ ที่มะม่วงเป็นพืชที่โตได้ดีในเขตร้อนเช่นในประเทศไทยเรา หลายประเทศดังกล่าวก่อนที่จะมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของตัวเองจะผ่านช่วงของการเลียนแบบ และสร้างความเข้าใจเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันอย่างถ่องแท้ จนในที่สุดสามารถคิดค้นนวัตกรรมของตัวเองเพิ่มเติมเข้าไปในเทคโนโลยีที่มีอยู่

ประเทศจีนในปัจจุบันสามารถสร้างนวัตกรรมของตัวเองผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้ จนทำให้รายได้ต่อหัวของจีนสูงกว่ารายได้ต่อหัวของไทย ซึ่งการทำให้รายได้ต่อหัวของจีนสูงขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมาก ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องจักรการเติบโตให้มีองค์ประกอบของเทคโนโลยีและต่อยอดให้สามารถสร้างนวัตกรรมของตัวเองเพื่อนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าของสินค้าไทย

รัฐบาลจำเป็นต้องเน้นอย่างจริงจัง ไปที่การผลิตสินค้าหรือบริการทางเทคโนโลยีที่มีคุณภาพได้มาตรฐานที่เราพอสามารถทำได้เองให้เกิดขึ้นมาได้ 1 หรือ 2 สินค้าและสนับสนุนให้มีการใช้ในประเทศอย่างแพร่หลายเมื่อได้รับการยอมรับจากในประเทศจึงเริ่มส่งออก โดยเริ่มส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เมื่อได้รับความนิยมจึงขยายตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ต่อไป เมื่อทำสินค้าเทคโนโลยีหนึ่งได้จะสามารถต่อยอดทำสินค้าเทคโนโลยีชนิดอื่นๆ ตามมาได้ นำมาใช้เองและส่งออกต่อไปเพื่อสร้างรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากตอนนี้ไปยังเป้าหมายในอนาคตที่ประเทศไทยจะมีรายได้สูงเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว ดัชนีบ่งชี้หรือตัวแปรที่สำคัญทางเศรษฐศาสตร์มหภาคที่จะบอกได้ว่าประเทศไทยมาถูกทางคือ เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ทิศทางของระดับราคาในประเทศจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น เนื่องจากประเทศไทยจะมีการผลิตที่มากขึ้น มากขึ้นกว่าระดับการผลิตปกติที่เคยเป็นอยู่ ทำให้ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการผลิตที่มากขึ้น มีชั่วโมงล่วงเวลาทำงานมากขึ้น มีการลงทุนเพิ่มเติมทางด้านวิจัยและพัฒนา ค่าแรงมีแนวโน้มที่ปรับตัวสูงขึ้น บริษัทเต็มใจที่จะจ่ายค่าจ้างที่สูงให้กับแรงงานที่มีประสิทธิภาพ อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเพราะว่ามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีความต้องการการลงทุนที่มากขึ้น มีการระดมทุนมากขึ้น
728x90-03-3-503x62
บริษัทต่างๆ มีความมั่นใจในอนาคตและกู้เงินมากขึ้นเพื่อใช้ในการขยายกิจการ รัฐบาลใช้จ่ายเงินมากขึ้นในการพัฒนาประเทศและเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รัฐบาลระดมทุนมากขึ้นโดยอาจอยู่ในรูปของการออกพันธบัตรรัฐบาล อัตราแลกเปลี่ยนหรือเงินบาท ในขณะเดียวกันมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการการลงทุนในประเทศมากขึ้นจากนักลงทุนต่างชาติ ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าประเทศมากขึ้น ความต้องการสินค้าไทยจากผู้บริโภคต่างชาติมากขึ้น

ต่างชาติยอมรับในคุณภาพสินค้าจากไทยทำให้การส่งออกของ ไทยเพิ่มมากขึ้น จริงอยู่ว่าการที่เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นมีผลทำให้เงินเฟ้อลดลงเนื่องจากราคาสินค้านำเข้าจะ ถูกลง แต่อย่างไรก็ตามถ้าประเทศมีแนวโน้มในการผลิตที่สูงมากกว่าการผลิตในระดับปกติอย่างต่อเนื่อง ระดับราคาในประเทศจะปรับตัวขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป แต่ถ้ายังไม่มีสัญญาณว่า เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลอาจจะต้องกลับมาทบทวน ปรับกลยุทธ์และวิธีการ เพื่อให้กลับเข้ามาอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องต่อไป

และเมื่อเราไปถึงจุดที่ประเทศมีรายได้สูง เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือค่าจ้าง ค่าแรงภาคส่งออกของประเทศไทยจะสูงขึ้น เนื่อง จากศักยภาพการผลิตของภาคส่งออกสูงขึ้น ค่าจ้างและค่าแรงดังกล่าวที่สูงขึ้น กำหนดระดับราคาของสินค้าและบริการต่างๆ ในประเทศที่ไม่ได้ส่งออก ส่งผลให้ข้าวของเครื่องใช้ ค่าบริการต่างๆ ค่าจ้าง ค่าแรง รวมถึงรายได้เกษตรกรและเงินเดือนข้าราชการจะสูงขึ้น ยิ่งถ้าศักยภาพการผลิตของภาคส่งออกสูงมากขึ้น
อาทิ ประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมของตัวเองได้ ทำให้รายได้ ค่าจ้าง ค่าแรงสูงมากขึ้น ก่อให้เกิดการปรับตัวสูงขึ้นของระดับราคาในประเทศมากขึ้นไปอีก ระดับราคาสูงขึ้นแต่เงินเฟ้อจะต้องถูกควบคุมไม่ให้สูงเกินไป เนื่องจากเงินเฟ้อทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวขาดเสถียรภาพ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,334 วันที่ 25 - 27 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว