ผู้นำต้องลีดทีม...สู่เป้าหมายเดียวกัน ทะเลาะเพื่อผลักดันองค์กรให้ดีขึ้น

27 ม.ค. 2561 | 01:27 น.
การเป็นผู้นำในโลกยุคใหม่ หากจะนำพาองค์กรให้เดินหน้า วันๆ หนึ่งจะอาศัยแค่การนั่งประชุมอยู่หัวโต๊ะทั้งวี่ทั้งวัน  เดี๋ยวๆ ก็ระดมสมองๆ โดยไม่ลงมือปฏิบัติเสียที แบบนั้นสันนิษฐานได้เลยว่า องค์กรคงอยู่ได้อีกไม่นาน การเคลื่อนไหวในยุคไทยแลนด์ 4.0 หรือในยุคที่โลกมีการเคลื่อนไหวรวดเร็วจนตามไม่ทันแบบนี้ “ดร.คิด” หรือ นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้ง RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรและสตาร์ตอัพ บอกเลยว่า...ต้องคิด ลงมือทำ ล้มให้ไว ลุกให้เร็ว

ผู้ชายคนนี้ เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงเว่อร์ ถือเป็นสตาร์ตอัพรุ่นแรกๆ ของเมืองไทยก็คงไม่ผิด เริ่มลุยและลงมือทำการพัฒนาโปรแกรมดูข้อมูลหุ้นผ่านโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ปี 2545 ก่อนที่จะจบแพทย์ จากศิริราชเสียอีก จนมีบริษัท “First Vision Advantage” ที่มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท และยังมีอีกหลายธุรกิจด้านนวัตกรรม เรียกว่าลุยมาหลายงาน ล้มมาหลายโปรเจ็กต์ และลุกขึ้นมาสร้างงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

จนปัจจุบันเป็นกรุ๊ปซีอีโอ ของ 4 บริษัท ทั้ง บริษัท แมคฟิว่า (ประเทศไทย) จำกัด ดิจิตอลเอเยนซี ที่ร่วมทุนกับบริษัทโทรคมนาคมฯ จากญี่ปุ่น NTT Docomo และยังเป็นผู้ก่อตั้ง RISE Academy สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร (Corporate Innovation Accelerator) พร้อมด้วยบริษัทอี-คอมเมิร์ซอีก 2 บริษัท และบริษัท Well Whaleฯ ทำธุุรกิจด้านเอดูเคชัน ให้กับบุคลากรในองค์กรต่างๆ ซึ่งทุกองค์กรที่ “ดร.คิด” สร้างคือ เป็นธุรกิจที่เอื้อและต่อยอดกันได้หมด

[caption id="attachment_252563" align="aligncenter" width="333"] นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์[/caption]

“คนทำสตาร์ตอัพเยอะแล้ว เรามองไปอีก Angle หนึ่ง ส่วนใหญ่ที่เขาชอบพูด สตาร์ตอัพทำแล้ว 90-100% ล้มเหลว เราไม่คิดอย่างนั้น เราไปดูว่า เขาไม่รอดเพราะเขาไม่มีลูกค้า เพราะเขาเก่งทำโปรดักต์ แต่ไม่เก่งเรื่องการตลาด แล้วใครมีลูกค้า ก็ corporate ไง เขามีลูกค้าตั้งเยอะ แต่เขายังขาดนวัตกรรม...เราเห็นแบบนี้ก็เอา 2 คนนี้มาทำงานร่วมกัน ก็ วิน วิน ได้นวัตกรรมไป ผู้บริโภคแฮปปี้ สตาร์ตอัพก็ได้เงินได้ลูกค้า ก็วินวิน”

ภารกิจที่ “ดร.คิด” ตั้งเป้าไว้คือ การขับเคลื่อนให้จีดีพีของประเทศเติบโตสัก 1% โดยการนำนวัตกรรมเข้าไปช่วยผลักดัน ทำให้องค์กรมีรายได้เพิ่มขึ้น รายจ่ายลดลง กำไรเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่มบริษัทภายใต้การดูแลของเขาก็ต้องเติบโตไปด้วยพร้อมๆ กัน

มุมมองของ “ดร.คิด” เขามองว่า ธุรกิจตัวกลางกำลังจะหายไป โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ เพราะฉะนั้น การบริหารธุรกิจเอเยนซีของเขา ซึ่งก็คือตัวกลางระหว่างลูกค้าและผู้ประกอบการ ก็ต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกัน

“ถ้าเรายังทำธุรกิจที่เป็นตัวกลาง เราก็คงอยู่ได้อีกไม่นาน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำตอนนี้ คือ เรามีแวลูอะไร คุณค่าที่เราจะส่งมอบให้กับลูกค้าของเรา หรือพันธมิตรของเรา ผมพยายามเปลี่ยนโมเดลเลย แต่มันก็ไม่ง่ายที่จะเอาบริษัทโฆษณาอันหนึ่ง มาแปะชื่อคู่กับลูกค้า แล้วทำงานด้วยกัน มันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เราทำมา 2 ปีแล้ว เราเปลี่ยนจากการเป็น vender ซึ่งจะมี goals คนละ goals กับลูกค้า ให้กลายมาเป็น goals ด้วยการเข้าไปทำงานร่วมกับลูกค้าในลักษณะพาร์ตเนอร์ ทุกอย่างมันก็จะไปในทิศทางเดียวกัน”

ที่ผ่านมา เขาไปจับมือกับ บริษัทผู้ผลิตรายการ ทีวี ธันเดอร์ ทำรายการ สตาร์ตอัพสตาร์ ดารา 4.0 เอาเรื่องการปั้นสตาร์ตอัพ ปั้นให้เป็นตัวจุดประกายไอเดียให้กับคนดูทั่วประเทศ...เราเป็น Solutioner คิดแก้ปัญหา โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) นวัตกรรม (Innovation) มาแก้ปัญหา และล่าสุด เขายังจับมือกับ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด (PTT Digital) เปิดโครงการ “D-NEXT by PTT Digital x RISE” เฟ้นหาสตาร์ตอัพ 15 ทีม จาก ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และ อินโดนีเซีย มาสร้างนวัตกรรมเพื่อเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัทในกลุ่ม ปตท. และขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ของ PTT Digital โดย RISE ทำหน้าที่สนับสนุนเน็ตเวิร์ก และ ปตท.เป็นผู้สนับสนุนเงินทุน

MP27-3334-1A จากการเปิดตัวของ RISE เพียงไม่ถึง 2 ปี แต่มีลูกค้าสตาร์ตอัพในมือทั้งภาครัฐและเอกชน และมีลูกค้ากลุ่มใหญ่ 22% ของ มาร์เก็ตแค็ปในตลาดหุ้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“ดร.คิด” บอกว่า การที่เขาได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า เป็นผลลัพธ์จากงานที่เขาพัฒนาให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าสามารถเติบโตได้ตามเป้าที่ต้องการ เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตามที่ต้องการ จึงทำให้เกิดการบอกต่อ...เราเข้าใจว่า จุดเจ็บ (pain point) ของบริษัทใหญ่คืออะไร เราก็แปลงจุดเจ็บนั้น มาช่วยเขาได้ ทำให้เขาเติบโต

การผลักดันให้กลุ่มธุรกิจภายใต้การดูแลเติบโต และยังต้อง อยู่ได้อย่างต่อเนื่อง “ดร.คิด” บอกว่า มันคือ ความสนุก เขาสนุกที่จะสร้างอิมแพ็กต์ สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ยิ่งการได้ร่วมงานกับองค์กรใหญ่ๆ หรือภาครัฐ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงจะเกิดแรงกระเพื่อมใหญ่ นั่นคือความท้าทาย และความภาคภูมิใจ

728x90-03-3-503x62 การบริหารธุรกิจของ “ดร.คิด” ถือเป็นกำไรและความโชคดี การที่เขาได้ร่วมงานกับหลายๆ องค์กร ช่วยผลักดันให้องค์กรต่างๆ ประสบความสำเร็จ ทำให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กับองค์กรเหล่านั้น...ผมคิดว่า สำเร็จหรือไม่สำเร็จ มันเป็นการเดินทาง มันมีระหว่างทางที่สำเร็จบ้าง และไม่สำเร็จบ้าง พอเราเอาองค์ความรู้และประสบการณ์ เรามาทดลองทำเรื่อยๆ ขณะที่เราพร้อมที่จะล้มเร็วๆ และลุกขึ้นมาเร็วๆ มันคือการได้เรียนรู้ไปด้วยกัน วิธีการทำงานของเราเปลี่ยนตลอด องค์กรของเขามีการเคลื่อนไหวที่เร็วมาก

ผู้บริหารหนุ่มทิ้งท้ายถึงแนวทางการบริหารงานของเขาว่า แน่นอนมันต้องมีการทะเลาะกันบ้าง แต่ทะเลาะแล้วเลิกเร็วๆ ทะเลาะกันบนงาน หลังจากนั้นก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีต่อกัน มันเป็น healthy discussion, healthy agreement เพราะกว่าจะไปทะเลาะตรงนั้นได้ ในฐานะผู้นำองค์กร เราต้อง align goals, align mission, align vision กันก่อน เพราะไม่งั้น goals คนละอันมันจะไม่จบ เราทะเลาะกันเพื่อให้มันดีขึ้น ในฐานะผู้นำองค์กร เราต้องลีดตรงนั้นได้

นี่คือแนวทางการบริหารธุรกิจที่ไดนามิกตลอดเวลา ล้มแล้วลุก คิดแล้วทำ เพื่อผลักดันองค์กร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,334 วันที่ 25 - 27 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-7-503x62