เงินบาททรงตัว 31.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ จับตา ECB-BOJ ลดทำคิวอี กดดันเงินดอลลาร์อ่อนค่า

22 ม.ค. 2561 | 02:26 น.
เงินบาททรงตัวแข็งค่า 31.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังตลาดตอบรับความเสี่ยง Government shutdown จับตาตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ยุโรปหนุน BOJ-ECB ลดมาตรการ QE มองเงินบาทแกว่งตัวในกรอบ 31.75-32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทรงตัวจาก 31.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อนึ่งค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตลาดเริ่มตอบรับความเสี่ยงการเมืองสหรัฐฯ ที่เกิดภาวะปิดหน่วยงานราชการชั่วคราว (Government shutdown) หลังสภาคองเกรสไม่สามารถตกลงกันในร่างงบประมาณชั่วคราว

728x90-03-3-503x62 สำหรับสัปดาห์นี้มีตัวเลขเศรษฐกิจและการประชุมธนาคารกลางหลักที่น่าสนใจดังนี้ เริ่มจากวันจันทร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี มองว่า การส่งออกและนำเข้าของไทยจะสามารถขยายตัวได้ดี ตามภาพการค้าโลกต่อ โดยมองส่งออกและนำเข้าโตอย่างน้อย 10% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน วันอังคาร ตลาดจะจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อ ทว่าควรจับตาแนวโน้มการลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ (QE) ซึ่งอาจจะกระทบต่อแนวโน้มค่าเงินเยนได้ วันพุธ นักวิเคราะห์มอง การส่งออกและนำเข้าของญี่ปุ่นน่าจะยังได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของการค้าโลกต่อ หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ส่วนวันพฤหัสบดี ตลาดจะจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะแนวโน้มการลด หรือยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ ซึ่งจะสามารถกระทบค่าเงินยูโรได้อย่างมีนัยสำคัญ มองธนาคารกลางยุโรปจะยังคงอัตราดอกเบี้ยต่างๆ ไว้ที่ระดับเดิมต่อ และในวันศุกร์ นักวิเคราะห์มองว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 2.9% จากไตรมาสก่อนหน้า หนุนโดยการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน และนอกจากนี้ ตลาดจะจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่น ที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้น เหนือระดับ 1% ช่วยเพิ่มโอกาสให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น จะเริ่มลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าได้ในต้นสัปดาห์ และแกว่งตัวในกรอบ 31.75-32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ เนื่องจากขาดตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ มาหนุนค่าเงินดอลลาร์ในช่วงแรก นอกจากนี้ หากธนาคารกลางยุโรปส่งสัญญาณปรับเปลี่ยนการซื้อสินทรัพย์ จะสามารถกดดันให้ ดอลลาร์อ่อนค่าได้ ซึ่งจะยิ่งหนุนการแข็งค่าของค่าเงินบาท อนึ่งค่าเงินบาทอาจจะไม่แข็งค่าหนักในช่วงท้ายสัปดาห์เนื่องจากเป็นช่วงปลายเดือนที่ผู้นำเข้ามักจะเข้ามาซื้อดอลลาร์ ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-7-503x62