ของขวัญปีใหม่ กับการเดินหน้าปฏิรูปรถเมล์ยุค4.0

23 ม.ค. 2561 | 05:08 น.
ในอดีตการให้ใบอนุญาตการให้บริการรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำกัดให้เพียงแต่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่สามารถเป็นผู้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกแต่เพียงผู้เดียว ภายหลังจากการประกอบกิจการของขสมก. มากว่า 40 ปีหลังจากนั้นก็ประสบปัญหาต่างๆนานาที่มีสาเหตุมาจากทั้งประสิทธิภาพในการจัดการ ข้อจำกัดของโครงสร้างแบบรัฐวิสาหกิจ การแทรกแซงทางการเมือง รวมถึงการแข่งขันจากรูปแบบการเดินทางต่างๆ ส่งผลให้ขสมก. ขาดทุนรวมนับกว่าแสนล้านบาท ในขณะเดียวกันการให้บริการก็ยังต้องพึ่งพิงกลุ่มรถร่วมบริการเอกชนมากกว่าครึ่ง ภายหลังกรมการขนส่งทางบกได้รับหน้าที่ในการเสนอแผนปฏิรูปรถเมล์จึงเกิดการเสนอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังกล่าวพร้อมกับการกำหนดโครงข่ายเส้นทาง และการกำกับดูแลในรูปแบบใหม่

เส้นทางในโครงข่ายใหม่ทั้งหมด 269 เส้นทางถูกกำหนดขึ้นซึ่งประกอบไปทั้งเส้นทางใหม่ และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเส้นทางเก่า โดยในหลักการยึดแนวคิดในการลดการทับซ้อนของเส้นทาง ลดระยะทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และสร้างโครงข่ายให้เชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนแบบราง นอกจากนั้นในแผนแม่บทยังมีการกำหนดโครงสร้างการแข่งขันเชิงคุณภาพของผู้ประกอบการ การกำกับดูแลและประเมินผลโดยใช้เทคโนโลยีในการดำเนินการ และการสร้างผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ หากมองจากภายนอกอาจจะเข้าใจว่าการปฏิรูปครั้งนี้เน้นหนักในด้านโครงข่ายเส้นทาง และการกำหนดชื่อเส้นทาง ฯลฯ

แต่แท้จริงแล้วแก่นแท้ของการปฏิรูปในครั้งนี้อยู่ในการปรับกระบวนการจัดสรรใบอนุญาต เพื่อสร้างให้เกิดกลไกทางตลาดในการลงทุนเพื่อยกระดับผู้ประกอบการ การกำกับดูแลจากกรมการขนส่งทางบกที่แยกออกจากการเป็นผู้ให้บริการของ ขสมก. และการปรับกระบวนการในการดูแลอย่างใกล้ชิดกับผู้ประกอบการโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยทั้งหมดนี้ก็เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการรถเมล์ในกรุงเทพฯและปริมณฑล

728x90-03-3-503x62 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกได้เปิดตัว 2 เส้นทางปฏิรูปใหม่ที่ได้ผู้ประกอบการจากการคัดเลือกเชิงคุณภาพแล้วโดยที่ทั้ง 2 เส้นทางทางผู้ประกอบการได้บรรจุรถประจำทางใหม่เอี่ยมมาให้บริการพร้อมทั้งเทคโนโลยีในการกำกับดูแลความปลอดภัยต่างๆ และการจ่ายค่าเดินทางแบบ e-ticket ถือว่าเป็นผลลัพธ์ก้าวแรกของการปรับเปลี่ยนตลาด และการใช้นวัตกรรมการบริหารภาครัฐเพื่อสร้างให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยกระดับการให้บริการสำหรับภาคประชาชนไปพร้อมๆ กัน อาจมีมุมมองว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะทำให้ระบบรถเมล์กลับไปเหมือนยุคก่อนที่จะมีการตั้ง ขสมก. กล่าวคือ เป็นยุคที่มีภาคเอกชนหลายรายมาวิ่งให้บริการแบบระบบใครระบบมัน

tp12-3333-a แต่หากวิเคราะห์จากแนวโน้มความแตกต่างหลักของรูปแบบระบบรถเมล์ใหม่คือ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่จะทำให้การกำกับดูแล และการใช้ข้อมูลในการบริหารเข้มข้นและแม่นยำขึ้น การพัฒนาของตลาดภาคการผลิตรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศส่งผลให้เกิด synergy กันระหว่างภาคการผลิตการขายรถยนต์กับภาคการให้บริการ และประกอบกับโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่มีทั้งรถไฟฟ้าและรถสาธารณะประเภทอื่นๆ ส่งผลให้รูปแบบตลาด และการกำกับดูแลในยุคนี้ต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง

ภายหลังจากนี้หากมีการดำเนินการตามแผนปฏิรูป คือ การทยอยเปิดการสรรหาผู้ประกอบการในเส้นทางต่างๆ อนาคตที่กำลังจะเกิดคือการเปิดตลาดการลงทุนใหม่ที่เกี่ยวกับการให้บริการสาธารณะในเมืองโดยอิงจากความสามารถของภาคเอกชน แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ให้ขสมก. ที่เป็นตัวแทนของภาครัฐปรับปรุงประสิทธิภาพและช่วยสร้างสมดุลในกลไกตลาดการให้บริการรถเมล์ในระยะยาว นวัตกรรมเชิงนโยบายดังกล่าวมีแนวโน้มจะทำให้เกิดผู้ประกอบการที่มีขนาด (sizing) ที่ใหญ่พอสมควรเพื่อที่จะสร้าง economy of scale และ economy of scope ในการให้บริการรถเมล์เพื่อสร้างรายได้ในรูปแบบที่หลกหลายและกระจายต้นทุนเชิงคุณภาพไปกับปริมาณการให้บริการที่มากพอ

กลไกชิ้นสุดท้ายในการปฏิรูปที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนคงเป็นกลไกด้านราคา และการสนับสนุน (subsidy) ที่จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งเอกชน และ ขสมก. สามารถดำเนินการได้อย่างมีคุณภาพอย่างยั่งยืนจริงๆ การผลักดันในเชิงนโยบายในประเทศ ไทยคงต้องยึดหลักว่าการเริ่มต้นสิ่งใหม่ในเรื่องดีๆไม่มีอะไรง่าย ความสำเร็จจะมีขึ้นได้ด้วยความจริงใจ ความอดทน ความเข้มแข็ง ความตั้งใจ พลังความร่วมมือที่บริสุทธิ์เพื่อสังคมสาธารณะที่ยั่งยืน

ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ประเทศเกาหลีใต้ใช้เงินกว่าหมื่นล้านและระยะเวลากว่า 5 ปีในการปฏิรูปรถเมล์ในกรุงโซล คงต้องติดตามดูตอนต่อไปว่าประเทศ ไทยจะสามารถดำเนินการโดยเพียงใช้นวัตกรรมด้านนโยบายในการยกระดับรถเมล์คราวนี้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนได้หรือไม่????

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561
e-book-1-503x62