ผุด 1 พันสถานีชาร์จ EA ลุยรถยนต์ไฟฟ้า

22 ม.ค. 2561 | 02:39 น.
พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ต่อยอดธุรกิจพลังงานทางเลือก ประกาศลุยผลิตรถพลังไฟฟ้า “อีวี” แบรนด์ไทย พร้อมอวดโฉมครั้งแรก “บางกอกมอเตอร์โชว์ 2018” เดือนมีนาคมนี้ มีให้เลือกทั้งตัวถังซีดานและเอ็มพีวี และวางขายจริงปี 2562 คาดเคาะราคาเริ่มต้น 9 แสนบาท

เปิดฉากยุคใหม่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และไม่ต้องเถียงกันเรื่อง “ไก่” กับ “ไข่” อะไรจะเกิดก่อนกัน เมื่อ “พลังงานบริสุทธิ์” หรือ EA ผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานทางเลือกและอุตสาหกรรมระบบสำรองไฟฟ้า(Energy Storage) พร้อมลุยครบทุกมิติ ทั้งเป็นผู้ผลิตรถพลังไฟฟ้า (อีวี) ผลิตแบตเตอรี่ และการปูพรมขยายสถานีอัดประจุ ไฟฟ้าทั่วประเทศ

ล่าสุดพลังงานมหานคร ซึ่งเป็นบริษัทลูกของพลังงานบริสุทธิ์ จัดงานแถลงความพร้อมอย่างเป็นทาง การในการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับรถปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี ให้ครบ 100 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ภายในเดือนมกราคมนี้ และครบ 1,000 แห่ง ทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ ด้วยมูลค่าการลงทุน 800 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

สำหรับสถานีชาร์จรถพลังไฟฟ้าจะกระจายไปตามห้างสรรพสินค้าในเครือสยามพารากอน คอมมิวนิตีมอลล์ที่เป็นพันธมิตร โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ และสถานีบริการนํ้ามันซัสโก้ เป็นต้น

[caption id="attachment_29668" align="aligncenter" width="358"] สมโภชน์ อาหุนัย สมโภชน์ อาหุนัย[/caption]

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทและพันธมิตรที่แข็งแกร่งพร้อมขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า EA Anywhere ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ อย่างในกรุงเทพฯและปริมณฑล ภายในรัศมี 5 กิโลเมตรต้องมีสถานีชาร์จอย่างน้อยหนึ่งจุด รองรับรถหลากหลายรุ่นที่ใช้ทั้ง หัวชาร์จแบบ ไทป์1 ไทป์2 แบบนอร์มอลชาร์จ(AC) ขณะที่ซูเปอร์ควิกชาร์จ (DC)จะใช้เวลาเพียง 7 นาที ในการชาร์จไฟหนึ่งครั้งเพื่อให้รถวิ่งได้ 50 กิโลเมตร

“เมื่อสถานีชาร์จไฟพร้อม ต่อไปการใช้รถพลังไฟฟ้าจะแพร่หลายมากขึ้น ทั้งการนำเข้าและผลิตขึ้นเองในประเทศ ถือเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม และในส่วนของเรายังเตรียมพัฒนารถพลังไฟฟ้า หรือ อีวี สัญชาติไทย ซึ่งจะนำไปเปิดตัวในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2018 อีกด้วย” นายสมโภชน์ กล่าวสรุป

สำหรับสถานีชาร์จไฟ EA Anywhere สามารถรองรับรถปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี ได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ โดยลูกค้าสามารถใช้งานผ่านแอพพลิเคชัน ทั้งการจองเวลาเข้ารับบริการล่วงหน้า และการชำระเงิน โดยค่าบริการเริ่มต้นชั่วโมงแรก 50 บาท 2 ชั่วโมง 120 บาท และ 3 ชั่วโมง 110 บาท

ในขณะที่ธุรกิจรถพลังไฟฟ้าที่ EA กำลังซุ่มพัตนาและเตรียมนำไปอวดโฉมครั้งแรกในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2018 เดือนมีนาคมนี้ คาดว่าจะมีให้เลือกทั้ง ตัวถังซีดานและเอ็มพีวี โดย EA จะตั้งบริษัทลูกเข้ามาดูการผลิตและจัดจำหน่าย โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากพันธมิตรผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไต้หวัน ซึ่งการชาร์จไฟเต็มที่ 1 ครั้งรถสามารถวิ่งได้ไกลกว่า 300 กิโลเมตร ส่วนการขายจริงจะเริ่มตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป สำหรับรุ่นซีดานคาดว่าราคาเริ่มต้นประมาณ 9 แสนบาท ส่วนเอ็มพีวีไม่เกิน 2 ล้านบาท

[caption id="attachment_134049" align="aligncenter" width="334"] นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ[/caption]

ด้านบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” โดยนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย)ฯ กล่าวว่า “อีวี” ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องของสถานีชาร์จไฟยังไม่เพียงพอ และไม่มีเซ็นเตอร์ที่จะบริหารพลังงานไฟฟ้า ที่จะคอยมอนิเตอร์ว่าขณะนั้นมีรถชาร์จไฟอยู่เท่าไร และการบริหารระบบใครจะเป็นผู้ดูแล ต้องใช้เวลาในการเตรียมพร้อม

“นอกจากนี้ ราคารถพลังไฟฟ้ายังแพง ต้นทุนของแบตเตอรี่ที่ติดตั้งคิดเป็น 30-40% ของราคารถ ขณะที่การชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้งยังขับได้เพียงระยะทางสั้นๆ” นายนินนาท กล่าว

ทั้งนี้ในงานแถลงทิศทางตลาดรถยนต์ปี 2561 โตโยต้ายังประกาศว่า กำลังเร่งการผลิตแบตเตอรี่แบบนิเกิลเมทัลไฮดราย ที่โรงงานเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา ให้เร็วขึ้นอีก 1 ปีหรือภายในปี 2562 เพื่อรองรับรถไฮบริดที่เตรียมทำตลาดอีกหลายรุ่น

ฝั่งค่ายรถยนต์เยอรมนีอย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็ม ดับเบิลยู เตรียมขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าและประกอบรถปลั๊ก-อินไฮบริด และแบตเตอรี่ในเมืองไทยเช่นกัน โดยรายแรกใช้โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ จ.สมุทรปราการ ส่วนรายหลังใช้โรงงานของตนเองที่จังหวัดระยอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9