ค่าแรงป่วนนายจ้าง ภาคผลิตพุ่ง7.14%

22 ม.ค. 2561 | 05:00 น.
นายจ้างโซนชลบุรี ระยอง อ่วมหนัก ค่าแรง ขั้นตํ่าพุ่งสูงสุด 7.14% กลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น ภาคเกษตร ปศุสัตว์ ชิ้นส่วนรถยนต์ สาหัส ขณะที่ปิโตร เคมีใช้ทักษะสูงรับมือได้ 22 ม.ค. แรงงาน-นายจ้างต่างนัดถกต่อคสรท.ขอเท่ากันทุกพื้นที่ ส.อ.ท. พิจารณาผลกระทบส่งต่อกกร. “พาณิชย์” เรียกหารือ 24 ม.ค.นี้

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อพิจารณาสรุปอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าปี 2561 ซึ่งประกอบด้วยตัวแทน 3 ฝ่าย คือคณะกรรมการฝ่ายรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน ได้ข้อสรุปว่าต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า 77 จังหวัดทั่วประเทศ ปรับตั้งแต่ 5-22 บาท แบ่งการปรับออกเป็น 7 อัตรา แต่ละพื้นที่ปรับไม่เท่ากัน (ดูกราฟิก) โดยขอให้ค่าจ้างอัตราใหม่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2561 กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้กลุ่มนายจ้างนั่งไม่ติด เนื่องจากต้นทุนรวมสูงขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกจ้างก็ยังไม่พอใจเรียกร้องต่อขอให้ปรับค่าแรงขั้นตํ่าให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศ

TP15-3333-2 “ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจฐานค่าแรงงานขั้นตํ่าที่ปรับขึ้นครั้งนี้ พบว่ามีเปอร์เซ็นต์ปรับค่าแรงขั้นตํ่าสุดอยู่ที่ 1.64% ไปจนถึงปรับสูงสุดที่ 7.14% เช่น จังหวัดอุทัยธานี เดิมได้รับค่าแรงขั้นตํ่า 305 บาท ต่อวัน เมื่อปรับใหม่ค่าแรง ในจังหวัดดังกล่าวเพิ่มเป็น 310 บาทต่อวัน ทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้น 5 บาท หรือเพิ่มขึ้น 1.64% หรือจังหวัดที่ปรับค่าแรงสูงสุด อย่างจังหวัดชลบุรีกับระยอง ซึ่งเป็นศูนย์ รวมของการลงทุนในอุตสาหกรรมหลากหลาย ที่เดิมได้รับค่าแรงขั้นตํ่า 308 บาทต่อวัน ล่าสุดปรับเป็น 330 บาทต่อวัน เท่ากับค่าแรงได้รับการปรับเพิ่มขึ้นถึง 22 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 7.14% เป็นต้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับค่าจ้างขั้นตํ่าที่เคาะออกมานั้นถือว่าสูงกว่าอัตราที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านั้นมาก จากที่มองว่าค่าแรงขั้นตํ่าน่าจะปรับขึ้นอีกไม่เกิน 5-15 บาท แต่ล่าสุดกลับปรับขึ้น ตั้งแต่ 5-22 บาท ถือเป็นการปรับค่าครองชีพ และมีผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี

“ยอมรับว่าผลที่ออกมานายจ้างไม่มีอำนาจต่อรอง เคาะค่าแรงครั้งนี้ถือว่า นายจ้างเซอร์ ไพรส์มาก ล่าสุดส.อ.ท.กำลังดูผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการเป็นรายจังหวัด โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ก่อนว่าผู้ประกอบการที่ตั้งกิจการอยู่ในจังหวัดที่ถูกปรับค่าแรงสูงขึ้นจะกระทบมากน้อยแค่ไหน และจะนำข้อมูลทั้งหมดไปหารือกันต่อในวันที่ 22 มกราคมนี้ที่จะประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. เพื่อสรุปผล ส่งต่อไปยังการประชุมคณะกรรมการ่วมภาครัฐเอกชนหรือกกร.ต่อไป”

อย่างไรก็ตามกลุ่มอุตสาหกรรม ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจะอยู่ในกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อาหารทะเลแปรรูป อุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ อุตสาหกรรมบริการ เช่น ร้านอาหาร และอุตสาหกรรมสิ่งทอ น่าจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอีจำนวนมาก ส่วนกลุ่มแรงงานที่มีทักษะสูงเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็ก ทรอนิกส์ เครื่องจักรกล ปิโตรเคมี ไม่น่าจะกระทบมากเพราะส่วนหนึ่งได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบออโตเมชัน และใช้หุ่นยนต์เข้ามาใช้แทนแรงงาน

[caption id="attachment_31589" align="aligncenter" width="393"] วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป[/caption]

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การเตรียมปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าอีก 5-22 บาทในทุกจังหวัดทั่วประเทศ สมาคมซึ่งมีสมาชิกใน 6 กลุ่มสินค้ารวมเกือบ 200 บริษัทที่ผลิตและส่งออกจะได้รับผลกระทบถ้วนหน้าจากต้นทุนที่จะปรับเพิ่มขึ้น เพราะส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนจำนวนมาก เช่น สินค้าทูน่า อาหารทะเล สับปะรดกระป๋อง รวมถึงยังกระทบผู้ผลิตต้นนํ้า เช่น กลุ่มผู้ปลูกพืชผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ที่ต้องใช้แรงงานคนในการผลิต นอกจากนี้จะกระทบกับการเจรจารับคำสั่งซื้อ เพราะเวลานี้เงินบาทก็แข็งค่ามาก ราคาสินค้าสูงขึ้น ลูกค้าต่อราคาลง ปรับขึ้นไม่ได้ ค่า จ้างขั้นตํ่ามาปรับขึ้นอีกการเจรจาต่อรองกับลูกค้าจะยากขึ้น

นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ค่าจ้างแรงงานเป็นหนึ่งในต้น ทุนการผลิตที่สำคัญของผู้ประกอบการ หากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่นสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มจะอยู่ที่ 15-20% ของต้นทุนการผลิต ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นปานกลาง เช่น ประกอบรถยนต์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ 10-15% และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานน้อยเช่น นํ้ามัน ปิโตรเคมีเฉลี่ยที่ 10% ของต้นทุนการผลิต

[caption id="attachment_157599" align="aligncenter" width="503"] กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ หวังกำลังซื้อฟื้นตัวต่อเนื่อง กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ หวังกำลังซื้อฟื้นตัวต่อเนื่อง[/caption]

นายโกวิทย์ ว่องกลกิจศิลป์ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ส.อ.ท.กล่าวว่า ค่าแรง 330 บาทเพิ่มขึ้นใน 3 จังหวัดภูเก็ต ชลบุรี ระยอง กระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จำนวนมากที่อยู่ในชลบุรีและระยอง ซึ่งมีโรงงานมากกว่า 100 ราย และส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีเป็นซัพพลายเชนให้กับค่ายรถยนต์ในพื้นที่ดังกล่าว

ขณะที่นายเอกรัตน์ ทองธวัช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส.อ.ท. กล่าวว่า ส่วนใหญ่กลุ่มปิโตรเคมีจะกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดระยองไม่ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากจ่ายค่าแรงในอัตราที่สูงกว่าค่าแรงขั้นตํ่าอยู่แล้ว เพราะแรง งานส่วนใหญ่มีทักษะความรู้ดี

[caption id="attachment_145485" align="aligncenter" width="487"] สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์[/caption]

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็ก ทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าจะทำให้กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้แรงงานในระบบมากถึง 2-3 แสนคน มีแรงงานหลายระดับกระทบด้วย และมองว่าการประชุมค่าแรงขั้นตํ่าครั้งนี้แต่ละฝ่ายมีข้อมูลคนละชุดจึงใช้เวลาหารือกันนาน 7-8 ชั่วโมง และชี้ให้เห็นว่า วันนี้ไตรภาคีจังหวัดได้ถูกทำลายไปแล้ว เพราะที่คุยกันมาก่อนหน้านั้น สุดท้ายก็ถูกล้มกระดานไป ผลออกมาไม่ตรงกับที่หารือกันไว้ จึงอยากเสนอแนะภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า การบริหาร เรื่องค่าจ้างนั้นเป็นเรื่องสำคัญแต่จะต้องมีการวางแผนระยะยาวว่าค่าแรงงานควรจะเป็นเท่าไรในระยะ 3-5 ปี เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้มีเวลาปรับตัว

[caption id="attachment_177592" align="aligncenter" width="503"] ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)[/caption]

นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า วันที่ 22 มกราคมนี้คสรท.จะหารือกัน เนื่องจากต้องการให้ค่าแรงขั้นตํ่าเท่าเทียมทั่วประเทศ หลังจากนั้นจะนำข้อสรุปทั้งหมดยื่นต่อนายกรัฐมนตรีก่อนประชุมครม.วันที่ 23 มกราคมนี้ ส่วนขั้นตอนจากนี้ไปจะต้องนำเรื่องที่คณะกรรมการแรงงานภาคี 3 ฝ่ายสรุปเสนอผ่าน ครม.อนุมัติหรือรับรอง หากมีข้อทวงติงก็อาจถูกตีกลับมาอีกก็ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่าในวันที่ 24 มกราคมนี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์จะเชิญผู้ผลิตสินค้า และผู้ประกอบการภาคบริการจำนวนกว่า 100 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่ามาหารือและรับฟังความเห็นเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย หากไม่มีผลกระทบมากก็ขอให้ตรึงราคาไปก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9