ฮือ 5 แอร์ไลน์จ่อถูกถอนไลเซนส์

22 ม.ค. 2561 | 07:02 น.
จัดระเบียบธุรกิจการบิน กพท.เร่งเคลียร์ปัญหานอมินี คุมเข้มยังต้องมีหลักฐานว่ามีคนไทยแท้ๆ นั่งซีอีโอ รวมถึงมีอำนาจในการบริหาร หลังให้เวลา 1 ปี สายการบินไปแต่งตัวใหม่ จับตา 5 แอร์ไลน์ถูกถอนใบอนุญาต เมื่อครบเดดไลน์ 20 มกราคมนี้

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจาก กพท.แก้ปัญหาปลดธงแดงได้สำเร็จในปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้กพท. จะให้ความสำคัญในการจัดระเบียบธุรกิจการบินของไทยในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาการครอบงำกิจการหรือนอมินีที่ต่อไปใครจะยื่นขอจัดตั้งสายการบินใหม่ รวมถึงสายการบินที่ดำเนินธุรกิจการบินอยู่แล้วในปัจจุบันต้องมีหลักฐานการถือหุ้นและทุนจดทะเบียน

[caption id="attachment_119486" align="aligncenter" width="480"] นายจุฬา สุขมานพ นายจุฬา สุขมานพ[/caption]

เป็นไปตามประกาศกระทรวงคมนาคมฉบับใหม่ เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) ที่จะมีการคุมเข้มขึ้นกว่าในอดีต “จากประกาศกระทรวงฉบับใหม่ เมื่อช่วงปีที่แล้ว ทำให้วันนี้เราไม่ใช่ดูแค่ว่ามีผู้ถือหุ้นไทย 51% ต่างชาติ 49% เท่านั้น แต่จะต้องดูลงไปอีกชั้นด้วยว่า ที่บอกว่าทุนไทยไม่น้อยกว่า 51% เป็นคนไทยจริงๆด้วยหรือเปล่า ผู้บริหารระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ) เป็นคนไทยหรือไม่ กรรมการบริหารของบริษัทหรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ เป็นคนไทยที่มีสิทธิออกเสียงหรือลงมติได้จริงหรือไม่ หรือเป็นแค่หุ่นเชิด มีกรรมการสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือไม่ เพราะเราต้องการเคลียร์ปัญหาที่มีการมองกันว่าธุรกิจการบินหลายสายเป็นนอมินีของต่างชาติ”

อีกทั้งปัจจุบันด้วยการเติบโตของการท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจการบินก็มีการขยายตัวตามไปด้วย ซึ่งหากบินในประเทศเราสงวนสิทธิให้สายการบินของไทยอยู่แล้ว ส่วนการเปิดจุดบินไปต่างประเทศมีเรื่องของสิทธิการบินเข้ามาเกี่ยวข้อง มีบางเส้นทางมีการจำกัดว่าบินได้ไม่เกินกี่สาย ขณะที่มีสายการบินของไทยที่มีAOC ในเส้นทางระหว่างประเทศกว่า 35 สายการบิน ดังนั้นในจำนวนสิทธิการบินที่มีจำกัด ก็ควรจะส่งสายการบินของไทยแท้ๆเข้าไป ไม่ใช่ลูกครึ่งนอมินี ซึ่งใช้สิทธิการบินของบริษัทแม่ในต่างประเทศได้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ในส่วนของสายการบินที่เปิดให้บริการอยู่แล้วในปัจจุบัน กพท.ให้เวลา 1 ปีนับจากก.ม.มีผลบังคับใช้ เพื่อให้ไปดำเนินการแก้ไข แต่งตัวใหม่ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 มกราคม 2561 ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนอมินีได้ ก็จะถอดถอนใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ(AOC) ก็จะทำให้ไม่สามารถทำการบินได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีสายการบินต่างๆทยอยเข้ามาสอบถามว่าได้ดำเนินการแต่งตัวถูกต้องแล้วหรือยัง โดยสายการบินรายใหญ่หลายสายก็ไปดำเนินการแต่งตัวใหม่ เพราะก็คงไม่อยากถูกถอดออกและเมื่อถึงเดตไลน์ก็คาดว่าน่าจะมีสายการบิน 5 สายที่อาจต้องหายไปจากปัจจุบันมีสายการบินของไทยจำนวน 50 สายการบินที่ได้รับAOL

ขณะที่สายการบินรายใหม่ ที่เข้ามาประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) นอกจากจะต้องมีหลักฐานชัดเจนว่าไม่ได้เป็นนอมินี ยังจะต้องมีการนำเสนอแผนธุรกิจ ที่ทางกพท.และคณะกรรมการกลั่นกรอง จะเป็นผู้พิจารณาว่ามีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินธุรกิจได้ตามแผนที่นำเสนอจริงๆ ก่อนนำเสนอเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาออกAOLต่อไป

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 3 รายยื่นเสนอตัวตั้งสายการบินใหม่ แต่เท่าที่พิจารณาแล้วเห็นว่ามี 1 รายที่มีความเป็นไปได้ คือ EASTAR Group ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยและเกาหลีใต้ ส่วนอีก 2 ราย ยังให้กลับไปแก้ไขแผนมาใหม่เนื่องจากกพท.จะมีผู้เชี่ยวชาญและคนในวงการ มาร่วมพิจารณาแผนธุรกิจที่เสนอมาด้วย ส่วนใหญ่สายการบินก็จะต้องขาดทุน 3-5 ปี แต่เขียนแผนมาจะกำไรใน 1-2 ปี ถ้าเราดูแล้วไม่น่าจะทำได้จริงตามแผน ก็ไม่ให้ผ่าน ซึ่งการอนุมัติตั้งสายการบินใหม่ กพท.ต้องเข้มงวด เพราะถ้าบินไปแล้วขาดทุน หรือมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็จะกระทบต่อภาพลักษณ์ในการกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนของไทย

728x90-03-3-503x62 นอกจากนี้กพท.ยังอยู่ระหว่างทยอยออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC- Re-certification)ให้กับสายการบินต่างๆที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งสายการบินเอเชีย แอตแลนติก แอร์ไลน์สจะเป็นสายการบินที่ 14 ที่ผ่านการตรวจสอบ AOC ตามมาตรฐานใหม่และกำลังจะตามมาอีก 3-4 สายการบิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเช่าเหมาลำขนาดเล็กหรือแอร์แท็กซี่ โดยอย่างช้าน่าจะดำเนินการได้ทั้งหมดภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้จากนั้นจึงจะเริ่มกระบวนการออกAOC ใหม่ให้กับสายการบินที่ทำการบินภายในประเทศรวมไปถึงการเริ่มการ AOC ใหม่ให้กับสายการบินของไทย ที่มี AOL อยู่แล้ว แต่AOC ขาดอายุไป อาทิ ซิตี้ แอร์เวย์, เอเชียน แอร์ไลน์

รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะกำหนดอัตราเพดานราคาขั้นสูงสำหรับการให้บริการของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ที่จะกำหนดอยู่ที่ 9.40 บาทต่อกิโลเมตร เนื่องจากปัจจุบันมีแต่เพดานราคาขั้นสูงของธุรกิจการบินในภาพรวม ซึ่งอยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลเมตร ดังนั้นราคาตั๋วของโลว์คอสต์ หากเป็นช่วงปกติส่วนใหญ่จะขายกันเฉลี่ยที่ 5 บาทต่อกิโลเมตร แต่ในช่วงเทศกาลหรือในช่วงที่มีการจองเดินทางหนาแน่นหรือไม่ได้จองล่วงหน้า ราคาจะสูงพอๆกับสายการบินฟูลเซอร์วิส ทั้งๆที่บริการที่น้อยกว่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9