พ่อค้าพล่าน! สั่งคุมส่งออกยาง 1.5 หมื่นล.

22 ม.ค. 2561 | 07:25 น.
ผู้ค้ายางพล่าน เกษตรฯ สั่งจัดสรรโควตาใหม่ ขีดเส้นแต่ละบริษัทลดส่งออก 3 เดือนแรกลง 30% สูงสุดนับแต่เคยมีมา หวังคุมเป้าลดลง 2.3 แสนตัน “กฤษฎา”ไฟเขียวให้ถัวเฉลี่ยส่งออกได้ วงการผวาเสียท่าคู่แข่ง จับตาคู่ค้าหันซื้อยางประเทศอื่น ระบุงานนี้ไทยเสียหายกว่า 1.5 หมื่นล้าน

จากที่ประชุมสภาไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศ (ITRC) ได้เห็นชอบประกาศมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกครั้งที่ 5 เพื่อลดปริมาณการส่งออกยาง 3 ประเทศ ปริมาณรวม 3.5 แสนตัน เพื่อดันราคายาง โดยไทยจะลดการส่งออก 2.3 แสนตัน อินโดนีเซีย 9.5 หมื่นตัน และมาเลเซียส่งออก 2 หมื่นตัน มีผลตั้งแต่มกราคม-มีนาคม 2561 นั้น
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเพื่อลดผลกระทบให้กับผู้ส่งออกยาง ทางกระทรวงได้มีมาตรการ

ผ่อนปรนให้แต่ละบริษัทหลังได้รับการจัดสรรโควตาแล้วสามารถถัวเฉลี่ยการส่งออกยางในช่วง 3 เดือนนี้ได้ ทั้งนี้ได้ประกาศกฎกระทรวงควบคุมยาง 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสมสารเคมี (Mixed Rubber) เท่านั้น โดยการจัดสรรโควตาส่งออกในไตรมาสที่ 1/2561 จะใช้ฐานข้อมูลการส่งออกของแต่ละบริษัทในไตรมาสที่ 1/2559 เป็นฐานอ้างอิง โดยการอนุญาตออกใบผ่านด่านศุลกากรแก่ผู้ส่งออกยางแต่ละรายไม่เกิน 70% ของที่เคยส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2559 (หรือจะลดลง 30%)

“เมื่อวันที่ 19 มกราคมทางการยางแห่งประเทศไทย หรือกยท.ได้ให้บริษัทร่วมทุนยางพารา จำกัดเข้าซื้อยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ทั้ง 3 ตลาด ส่งผลทำให้ราคายางทั้ง 3 ตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 50.05 บาทต่อกิโลกรัม ได้แก่ ตลาดกลางยางพาราสงขลา ราคา 50.05 บาทต่อกิโลกรัม ราคาเพิ่มขึ้นจากวันก่อน 0.53 บาทต่อกิโลกรัม เช่นเดียวกับตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานีราคาเพิ่มขึ้นเป็น 50.05 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 0.53 บาทต่อกิโลกรัม และตลาดนครศรีธรรมราช ราคา 50.05 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนอีก 2 ตลาดคือยะลาและบุรีรัมย์ ไม่มียางเข้าตลาด”

ด้านนายปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ รับเบอร์ จำกัด กล่าวว่า มาตรการการลดปริมาณส่งออกยางของผู้ประกอบการ 30% ถือว่าสูงมากในประวัติศาสตร์จาก 4 ครั้งที่ผ่านมาให้ลดแค่ 10% เท่านั้น เมื่อนำตัวเลขการลดสัดส่วนของ 3 ประเทศมาพิจารณาจะเห็นว่าไทยลดการส่งออกมากสุด ขณะที่เวียดนามไม่ได้เข้าร่วมในครั้งนี้ แต่ก็เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เช่นเดียวกัน มองว่าการลดส่งออกของไทยครั้งนี้จะทำให้คู่ค้าหันไปซื้อประเทศอื่นแทน เพราะปัจจุบันยางพาราปลูกทั่วโลกแล้ว และจากสถิติการส่งออกปี 2559 ไทยส่งออกยาง 3.4 ล้านตัน (ลดส่งออก 2.3 แสนตัน) อินโดนีเซียส่งออก 3.2 ล้านตัน (ลดส่งออก 9.5 หมื่นตัน และมาเลเซีย ส่งออก 1.05 ล้านตัน (ลดส่งออก 2 หมื่นตัน) ดูสัดส่วนเปรียบเทียบที่แต่ละประเทศต้องลดแล้วก็คงทราบว่าใครจะสูญเสียทางเศรษฐกิจสุด

ขณะที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยไทยจะมีสต๊อกยางปกติปริมาณ 3-5 แสนตัน หากส่งออกไม่ได้สต๊อกท่วมประเทศแน่นอน คาดสต๊อกจะเพิ่มขึ้นเป็น 6-8 แสนตัน โดยพิจารณาจากสถิติ 3 เดือนแรกปี 2560 ไทย ส่งออก 9.6 แสนตัน แต่ปีนี้ไทยลดส่งออก 2.3 แสนตัน ยางจะไปไหน หากผู้ส่งออกขายไม่ได้ ครั้นจะไปซื้อยางเก็บก็ต้องไปกู้เงินธนาคาร หากสถานการณ์เป็นแบบนี้เชื่อว่าธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ สุดท้ายจะกระทบถึงราคายางของชาวสวน อีกด้านหนึ่งผู้ส่งออกจะต้องไปซื้อยางจากประเทศอื่นส่งแทน ประเมินการจำกัดการส่งออกยาง 3 เดือนคาดไทยจะเสียหาย 1.5 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_146201" align="aligncenter" width="503"] นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์[/caption]

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้สินค้ายางพาราเป็น 1 ในสินค้าควบคุมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ล่าสุดทางกระทรวงยังไม่มีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายใดๆ ออกมาควบคุมดูแล แต่หากมีความจำเป็นก็จะมีพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางให้กับเกษตรกรต่อไป

[caption id="attachment_207304" align="aligncenter" width="503"] หลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารบริษัท ไทยเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด หลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารบริษัท ไทยเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด[/caption]

ขณะที่นายหลักชัย กิตติพล ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัทไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) 1 ใน 5 ผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ กล่าวว่า ผู้ประกอบการอยากขอความชัดเจนถึงแนวทางปฏิบัติหรือมาตรการในการกำกับดูแลยางพาราของกระทรวงพาณิชย์หลังดึงยางพาราเป็นสินค้าควบคุม เพราะความไม่ชัดเจนทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการซื้อขาย อีกด้านหนึ่งไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียก็มีความร่วมมือจำกัดการส่งออกยาง 3 เดือน ซึ่งก็ถูกคุมเรื่องปริมาณอยู่แล้ว หากถูกคุมเรื่องราคาอีกก็จะเกิดความเสียหาย

“เรื่องยางเป็นสินค้าควบคุมนี้ล่าสุดนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯได้แจ้งมายังสมาคมยางพาราไทยให้แจ้งต่อสมาชิกว่าขอให้ดำเนินธุรกิจตามปกติ อย่าให้เกิดปัญหาด้านการตลาด ซึ่งเราคาดว่ากระทรวงพาณิชย์จะเรียกผู้ประกอบการประชุมร่วมกันต่อไป”

สำหรับข้อมูลการส่งออกยางพาราของไทยในปี 2559 มีปริมาณ 3.49 ล้านตัน มูลค่า 4,445 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือกว่า 1.55 แสนล้านบาท) ส่วน 11 เดือนแรกปี 2560 ส่งออกแล้ว 3.29 ล้านตัน มูลค่า 5,528 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 1.88 แสนล้านบาท) โดยปริมาณและมูลค่าขยายตัว 4.1% และ 40.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ สัดส่วน 48.3, 12.8, 7.5, 5.9 และ 3.6% ตามลำดับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9