เรียนรู้จากเวียดนาม เรื่องใบเหลืองจากอียูกรณี IUU

23 ม.ค. 2561 | 23:15 น.
TP10-3333-1B อุตสาหกรรมการประมง เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ทำรายได้ให้แก่ไทย เนื่องด้วยสินค้าจากอุตสาหกรรมการประมงสามารถสร้างรายได้ให้แก่ภาคการส่งออกของประเทศถึงกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนกว่า 9% จากมูลค่าของอุตสาหกรรมภาคเกษตรกรรมโดยรวมของไทย (กสิกรรม ปศุสัตว์ และประมง) แต่หากพิจารณาถึงอุปสรรคของอุตสาหกรรมการประมงไทยก็จะพบว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือ ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing Measures - IUU)

การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) มีที่มาเริ่มต้นจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 (UN Convention on the Law of the Sea - UNCLOS) ข้อ 61 ที่ว่าด้วยเรื่องการอนุรักษ์ และ ข้อ 62 ที่ว่าด้วยเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์นํ้าอย่างยั่งยืน และจรรยาบรรณว่าด้วยการทำประมงอย่างรับผิดชอบ (FAOs Code of Conduct for Responsible Fisheries: CCRF) ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations - FAO) กำหนดขึ้น เนื่องจากแหล่งทำการประมงของโลกกำลังถูกทำลายด้วยการทำประมงที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้จำนวนสัตว์นํ้าในทะเลลดลงอย่างรวดเร็วเกินกว่าธรรมชาติจะผลิตขึ้นมาทดแทนใหม่ได้ทัน และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเนื่องไปถึงระบบห่วงโซ่อาหารและความสมดุลทางระบบนิเวศทางทะเลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีข้อตกลงร่วมกันในประเทศสมาชิก FAO ให้นำ แผนปฏิบัติการสากลว่าด้วยการป้องกัน ลด และเลิกการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (FAOs International Plan of Action on Prevent, Deter, and Eliminate Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing Measures : IPOA-IUU) ไปปฏิบัติใช้

TP10-3333-2B หลังจากมีแผนปฏิบัติการสากลดังกล่าวออกมา สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งถือเป็นภูมิภาคสำคัญที่นำเข้าสินค้าประมงจากนอกภูมิภาค คิดเป็นสัดส่วน 24% จากมูลค่าสินค้าประมงทั่วโลก ได้นำแผนการนี้ไปพัฒนาต่อยอดอย่างจริงจัง เพื่อแสดงจุดยืนต่อการทำประมงที่ผิดกฎหมาย จนออกมาเป็นแผนปฏิบัติการของตนเองในชื่อ EU IUU Regulation ซึ่งมีผลกระทบต่อไทย โดยสหภาพยุโรปตรวจพบว่า ไทยมีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม จึงได้ออก “ใบเหลือง” แก่ไทยเมื่อปี 2558 ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสินค้าประมงไทยเป็นอย่างมาก และหากสถานะของไทยเลื่อนเข้าสู่ “ใบแดง” ก็จะเกิดภาวะกีดกันทางการค้า สินค้าประมงจากไทยจะไม่สามารถส่งเข้าสู่ตลาดในสหภาพยุโรปได้อีกต่อไป ซึ่งรัฐบาลไทยมิได้นิ่งนอนใจ แต่ได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อยกระดับการทำประมงของไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้นที่ได้รับการเตือนดังกล่าว ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเวียดนาม ก็ได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน โดยสหภาพยุโรปได้ออกใบเหลืองให้เวียดนามเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (2560) ทำให้รัฐบาลเวียดนามเร่งออกมาตรการที่ตั้งเป้าหมายให้สหภาพยุโรปถอนการออกใบเหลืองภายใน 6 เดือน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

TP10-3333-3B 1. สภาแห่งชาติเวียดนาม มีมติรับรองกฎหมายประมงฉบับปรับปรุงที่ได้เพิ่มมาตรการส่งเสริม การพัฒนาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการของกระทรวงเกษตรกรรม และการพัฒนาชนบทเวียดนาม (The Ministry of Agriculture and Rural Development - MARD) ที่สอดคล้องกับคำแนะนำของสหภาพยุโรป ทั้งนี้กฎหมายที่ปรับปรุงจะมีผลบังคับใช้กับบริษัทส่งออกของเวียดนาม และบริษัทของต่างชาติ

2. กฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ ได้กำหนดค่าปรับกรณีทำประมงผิดกฎหมายในระดับที่สูงมาก โดยเจ้าของเรือประมงและกัปตัน จะมีโทษปรับสูงสุดถึง 1 พันล้านด่อง (หรือประมาณ 1.43 ล้านบาท) หรือจ่ายค่าปรับ 7 เท่าของมูลค่าสินค้าประมงที่ผิดกฎหมาย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย จะมีโทษปรับสูงสุดถึง 2 พันล้านด่อง (หรือประมาณ 2.86 ล้านบาท) รวมทั้งจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมง

3. ท่าเรือจะควบคุมการเข้าออกของเรือประมง และปริมาณอาหารทะเลที่ออกจากท่าเรือ โดยใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมในการจัดทำระบบข้อมูล รวมทั้งลูกเรือประมงจะต้องมีความรู้ ความ เข้าใจในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำ ที่เข้าข่ายลักษณะดังกล่าว

แน่นอนว่าลักษณะปัญหาของแต่ละประเทศย่อมมีความเหมือนและความต่างกันในรายละเอียด เนื่องด้วยความแตกต่างในลักษณะการทำประมง ซึ่งในเรื่องนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน การประชาสังคมในประเทศ จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งในและนอกภูมิภาค เพื่อลดการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อช่วยรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเล สร้างคุณภาพชีวิตลูกเรือประมงที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมประมงที่สร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมหาศาลอีกด้วย

728x90-03-3-503x62 พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9