เครือSTCโชว์แผนรุก ขยายธุรกิจร่วมทุน-ฝ่าค่าแรงพุ่ง

21 ม.ค. 2561 | 11:34 น.
เครือเอสทีซี หนึ่งในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ด้านสินค้าเกษตรที่อยู่คู่กับประเทศไทยมานานกว่า 40 ปี มีจุดเริ่มต้นในปี 2517 ได้ก่อตั้งบริษัท แสงไทยบางปะกง จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจด้านคลังเก็บสินค้าและการค้ามันสำปะหลัง ก่อนตั้งบริษัทนครหลวงค้าข้าวฯ เพื่อทำธุรกิจการค้าและส่งออกข้าวในปี 2520 ซึ่งเวลาต่อมาได้เป็นผู้นำส่งออกข้าวอันดับ 1 ของประเทศติดต่อกันมาอย่างยาวนาน ล่าสุดก็ยังเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นๆของประเทศ

++รายได้ปี60กว่า 2.6หมื่นล.
“วัลลภ พิชญ์พงศา” รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจข้าว เครือเอสทีซี ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยฉายภาพในปัจจุบันของเครือว่า ได้แตกธุรกิจออกเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจมันสำปะหลัง, ธุรกิจข้าว, ธุรกิจการขนส่งสินค้า, ธุรกิจการค้า, ธุรกิจบรรจุภัณฑ์, ธุรกิจบริการ (โรงแรมและรีสอร์ต), ธุรกิจไม้สับ และบริษัทร่วมทุน รวมบริษัทในเครือกว่า 20 บริษัท โดยยอดรายได้ของเครือในปี 2560 (ไม่รวมบริษัทร่วมทุน)ประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากกลุ่มธุรกิจข้าวมากสุดสัดส่วนกว่า 85% รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจมันสำปะหลัง 7.3% และกลุ่มธุรกิจการค้า (ขายข้าวในประเทศ-สาหร่ายซีลีโกะ) 3.8%

[caption id="attachment_251826" align="aligncenter" width="503"] tp8-3333-b วัลลภ พิชญ์พงศา[/caption]

“รายได้เครือเอสทีซี 2.6 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา มีรายได้หลักจากการส่งออกข้าวที่สามารถทำได้ประมาณ 1.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2.24 หมื่นล้านบาท จากปี 2559 มียอดส่งออกกว่า 1.1 ล้านตัน มูลค่า 1.57 หมื่นล้านบาท โดยด้านมูลค่า และปริมาณขยายตัวเพิมขึ้น 43% และ 48% ตามลำดับ ขณะที่เป้าหมายรายได้ของเครือปีนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่รายได้หลักจะยังมาจากการส่งออกข้าว ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายส่งออกที่สัดส่วน 15% ของการส่งออกข้าวในภาพรวมของประเทศ จากในปี 2560 ไทยส่งออกข้าวได้ที่ 11.3 ล้านตันสูงสุดเป็นประวัติ การณ์”

ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ไทยส่งออกข้าวได้มากในปีที่ผ่านมา มีส่วนสำคัญจากข้าวเก่าในสต๊อกรัฐบาลได้ถูกระบายออกมาปริมาณมากทำให้ซัพพลายในตลาดมีมากขึ้น ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกข้าวเก่าไปตลาดแอฟริกาที่นิยมบริโภคข้าวเก่าได้เพิ่มขึ้น และอีกส่วนเป็นผลจากมีความต้องการข้าวของตลาดใหม่ๆ เข้ามา เช่น บังกลาเทศ และอิหร่าน ทำให้ผู้ส่งออกข้าวได้รับอานิสงส์ส่งออกได้มากขึ้นด้วย

“การส่งออกข้าวของเครือ (บริษัทนครหลวงค้าข้าวฯ)ในปี 2560 โดยสัดส่วนเกือบ 50% เป็นการส่งออกไปตลาดแอฟริกา รองลงมาเป็นตลาดเอเชีย สหรัฐ อเมริกา และยุโรป โดยสัดส่วน 44% เป็นการส่งออกข้าวขาว 25% เป็นข้าวนึ่ง และ 7% เป็นข้าวหอมมะลิ ที่เหลือเป็นหมวดปลายข้าว และข้าวเหนียว โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกข้าวตั้งแต่ขนาด 1-50 กิโลกรัม ในแบรนด์ลูกค้า”

728x90-03-3-503x62 ++บาทแข็ง-ค่าแรงพุ่งปัจจัยลบ
“วัลลภ” ให้มุมมองถึงปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกข้าวในปี 2561 ว่า ในส่วนปัจจัยบวกที่สำคัญคือ เวลานี้ปริมาณข้าวเพื่อคนบริโภคในสต๊อกรัฐบาลได้ถูกระบายออกมาหมดแล้ว (เหลือเพียงข้าวเพื่ออุตสาหกรรม ประ มาณ 2 ล้านตัน) ทำให้เรื่องสต๊อกข้าวไทยไม่เป็นแรงกดดันต่อราคาข้าวในตลาดโลก และจากนี้ราคาจะเป็นไปตามกลไกตลาด มองว่าราคาข้าวในตลาดโลกจะปรับตัวในทิศทางที่สูงขึ้น แต่ราคาจะเป็นเท่าใดนั้นคงขึ้นกับภาวะตลาดแต่ละช่วง ซึ่งราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ส่งออก โรงสี ชาวนาได้รับประโยชน์

อย่างไรก็ดีมีปัจจัยเสี่ยงซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ต้องเฝ้าระวังและต้องบริหารจัดการให้ดี เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเงินบาทที่แข็งค่ามากในเวลานี้ ทำให้การตั้งราคาขายเป็นดอลลาร์สหรัฐฯมีราคาที่สูงขึ้น จะกระทบกับความสามารถในการแข่งขันส่งออกหากค่าเงินของประเทศคู่แข่งขันแข็งค่าน้อยกว่าและตั้งราคาสินค้าตํ่ากว่า นอกจากนี้มีปัจจัยลบจากค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคานํ้ามัน และความเสี่ยงจากการปรับขึ้นของค่าจ้างขั้นตํ่าที่จะทำให้รายจ่ายในส่วนของลูกจ้างรายวันสูงขึ้น ดังนั้นทิศทางธุรกิจของเครือจะมุ่งเน้นการนำเครื่องจักรเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงานคนมากขึ้น

“ด้วยราคาข้าวที่อยู่ช่วงขาขึ้น ส่วนหนึ่งอาจทำให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้นในการจะซื้อ เพราะซื้อไปขายแล้วไม่ขาดทุน แต่ถ้าราคาขาลงลูกค้าจะรอดูก่อนว่าราคาจะลงได้ขนาดไหน เพราะหากซื้อแล้วราคาลงไปอีก นำไปขายก็ขาดทุน ทั้งนี้กลยุทธ์การส่งออกข้าวของเครือจะพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ให้ได้ จากเวลานี้ธุรกิจมีการแข่งขันสูงจากมีผู้ส่งออกรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาด การรักษาฐานลูกค้าเดิมจึงเป็นสิ่งสำคัญ อีกส่วนหนึ่งคือการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับซัพพลายเออร์คือโรงสีกับหยงต่างๆ ที่จะหาข้าวให้กับเรา”

อีกด้านหนึ่งปัจจุบันเครือมีโรงสีที่จังหวัดชัยนาท (บริษัทโรงสีนครหลวงชัยนาท) มีกำลังผลิต ข้าวนึ่ง 800 ตันต่อวัน และข้าวขาว 500 ตันต่อวัน หลักๆจะส่งข้าวให้กับนครหลวงค้าข้าว นอกจากนี้เครือยังมีธุรกิจโรงสีที่กัมพูชาที่ได้ไปลงทุนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีกำลังการผลิตข้าวนึ่ง 300 ตันต่อวัน โดยการลงทุนในกัมพูชาเพื่อใช้สิทธิโควตาภาษี 0% ของกัมพูชาส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป

++โชว์แผนลงทุนดันรายได้
“แผนการลงทุนของเครือเอสทีซีในปี 2561 ในธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตรอย่างข้าว มันสำปะหลังจะไม่มีการลงทุนเพิ่ม เพราะได้มีการลงทุนในปีก่อนๆ มาแล้ว และมีกำลังผลิตเพียงพอที่จะรองรับยอดขาย แต่จะไปเพิ่มการลงทุนในส่วนของกลุ่มบริษัทร่วมทุน เช่นสินค้าหมวดแป้งสาลีหรือท่าเรือ ซึ่งในส่วนเม็ดเงินลงทุนยังไม่ได้สรุป อีกส่วนหนึ่งปีนี้เครือจะมีรายได้เพิ่มจากการขยายตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และสาหร่ายซีลีโกะทั้งในและต่างประเทศ”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9