กับดักเศรษฐกิจ กับภัยคุกคามสภาพอากาศที่รุนแรง:น้ำท่วม น้ำแล้ง

22 ม.ค. 2561 | 23:15 น.
TP07-3333-1A สถาบันจัดอันดับ Moody (2017) ได้รายงานว่ากำลังจะเริ่มนำดัชนี ความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ (Climate risk) มาจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ของประเทศต่างๆ ซึ่งหากรัฐบาลใดไม่มีการวางแผน และผลการปฏิบัติที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมในการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะถูกลดเครดิตความน่าเชื่อถือทำให้มีต้นทุนในการประกอบธุรกิจสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศ ไทยพร้อมรับหรือยังกับมาตรการดังกล่าวข้างต้น

สถานการณ์ทั่วโลก กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เป็นตัวเร่งให้เกิดสภาพอากาศรุนแรง หรือสภาพอากาศแปรปรวน ในขณะเดียวกัน การจัดการโดยรัฐบาลแต่ละประเทศก็มีความเข้มแข็ง แตกต่างกันไป ดังตัวอย่าง การเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ในภูมิภาคเอเชีย เช่นที่ ประเทศศรีลังกา (ชานกรุงโคลอมโบ) ช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักวัดปริมาณได้กว่า 450 มม. ใน 3 วันเกิดนํ้าป่าไหลหลาก โคลนถล่ม มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน ในขณะที่เกิดเหตุการณ์เดียวกันในประเทศไต้หวัน (ชานกรุงไทเป) ปริมาณฝนตกในต้นเดือนมิถุนายน 2560 มีถึง 600 มม. ใน 12 ชั่วโมง มีผู้เสียชีวิตเพียง 1 คน ความสูญเสียที่แตกต่างกันมาจากปัจจัย 3 ปัจจัยกล่าวคือ 1.ความรุนแรงของเหตุการณ์ 2.ความเปราะบางของชุมชน และ 3.ความล่อแหลมของพื้นที่

สำหรับประเทศไทย ก็ไม่น้อย หน้าเช่นกัน ได้รับการประเมิน และจัดอันดับจากหลายๆ หน่วยงานในต่างประเทศ เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB 2013) มีการประเมินความมั่นคงด้านนํ้า โดยให้คะแนนประเทศไทย 2.2 จากคะแนนเต็ม 5 โดยมีการวัดความมั่นคงของนํ้า 5 ด้าน กล่าวคือ ด้านนํ้าอุปโภค & บริโภคครัวเรือน (นํ้ายังชีพ) ด้านเศรษฐกิจ (นํ้าเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม พลังงาน) ด้านชุมชน (นํ้าพื้นฐาน ปริมาณนํ้าดิบ นํ้าบริโภค นํ้าสุขาภิบาล) ด้านสิ่งแวดล้อม (ระดับลุ่มนํ้า นํ้าในอนาคตฟรุตพรินต์) ด้านการปรับตัว (นํ้าท่วม นํ้าแล้ง)

TP07-3333-2A นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการประเมินจาก Standard & Poor’s (2014) ว่ามีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับรุนแรง เห็นได้จากความสูญเสียในแต่ละปีต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ยังไม่รวมเงินค่าเยียวยา ค่าเสียโอกาสในแต่ละเหตุการณ์ และที่สำคัญ มีผู้เสียชีวิตที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ ล่าสุด สถาบัน TU Delft (2017) ประเมินความเสี่ยงนํ้าท่วมกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน และอนาคตอยู่ในอันดับ 7 ของโลก เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว ภัยคุกคาม ทั้งจากภายนอกและภายใน กำลังเร่งเร้าให้มีการจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ

การเกิดนํ้าท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 การเกิดภัยแล้งต่อเนื่องปี 2558-2559 และการเกิดนํ้าท่วมเกือบทั่วทุกภาคในปี 2560 โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ จนมาถึงปลายปี ซึ่งภาคใต้ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ในปัจจุบัน โดยจากข้อมูลปริมาณฝนสะสมในภาคเหนือ และปริมาณนํ้าที่ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ยังคงตํ่ากว่าปี 2554 ประมาณ 12-34% ตามลำดับ แต่ระดับของนํ้าท่วมขังกลับสูง และยาวนานใกล้เคียงกัน (ชุมชน ริมนํ้า) แสดงเป็นนัยว่าการจัดการกำลังมีปัญหาด้านความเหลื่อมลํ้ามากขึ้นระหว่างชุมชนเมืองกับชนบท

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณฝนสะสมมากกว่าปี 2554 และมากกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 23% ทำให้อ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก มีปริมาณนํ้าเกินขีดจำกัด ต้องระบายนํ้าในปริมาณเกินความสามารถของแม่นํ้า จึงเป็นเหตุให้ระดับนํ้าล้นคันกั้นนํ้าเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ตั้งแต่ต้นนํ้าจังหวัดขอนแก่นไปจนถึงปลายนํ้าจังหวัดอุบลราชธานีเป็นโดมิโน และเหตุการณ์ที่สำคัญนํ้าท่วมจังหวัดสกลนคร และกรุงเทพมหานคร จากปริมาณ ฝนตกหนัก โดยที่ไม่มีระบบการติดตาม เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยกับประชาชน อย่างทันเหตุการณ์ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง เป็นบทเรียน ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกต่อไป

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ลักษณะสภาพอากาศ ปลายปีนี้คล้ายคลึงกับปี 2559 ทำให้ปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ต้นปี ทั้งภาคใต้ฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกมีมากกว่าค่าเฉลี่ย 27-60% ตามลำดับ โดยเกิดเหตุการณ์นํ้าท่วมใหญ่ตั้งแต่ปลายปี 2559 จนปัจจุบัน บางพื้นที่เกิดเหตุซํ้าหลายรอบ สร้างความเสียหาย และความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน เป็นบริเวณกว้าง

จึงเกิดคำถามตามมามากมายว่า “ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืนได้อย่างไร ประชาชนคนไทยจะดำเนินชีวิตอย่างไร ภายใต้ภัยคุกคาม จากสภาพอากาศที่รุนแรง” จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมกันหาทางออก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าจะมีความถี่ และความรุนแรงมากขึ้น สภาพอากาศที่รุนแรงในวันนี้จะเกิดขึ้นเป็นปกติในวันข้างหน้า โลกใบนี้มีสมดุลของนํ้าที่เมื่อเกิดนํ้าท่วมที่หนึ่ง ณ เวลาหนึ่ง ย่อมจะต้องเกิดนํ้าแล้งขึ้น ณ อีกที่หนึ่ง เวลาเดิม หรือที่เดิม และอีกเวลาหนึ่ง ซึ่งเราห้ามไม่ได้

ความรุนแรงของเหตุการณ์มีองค์ประกอบอีก 2 องค์ที่จะต้องพิจารณา คือ ความเปราะบาง และความล่อแหลมของพื้นที่ หรือชุมชน องค์ประกอบ 2 อย่างหลังนี้มีความสำคัญมาก ซึ่งต้องใช้หลักการมีส่วนร่วม และวางแผนระยะยาว การวิเคราะห์ความเปราะบาง และความล่อแหลม ทั้งทางกายภาพ ทางสังคม ต้องใช้ทั้ง Top down และ Bottom up approaches ในขณะที่การดำเนินนโยบาย Top down อย่างเดียวที่ผ่านมาได้สร้างความอ่อนแอ และไม่ยั่งยืน เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์สิ่งที่ประชาชนรับรู้คือ การตั้งรับ การแจกข้าวสาร อาหารแห้ง การเยียวยา เป็นต้น บางครั้งอาจจะมีโครงการลงมา โดยไม่มีการประเมินความต้องการของชุมชน รวมทั้งระบบการตัดสินใจบนพื้นฐาน ของการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ทำให้เกิดเป็นวัฏจักรของการเกิด การแจก และการเยียวยา แต่ไม่สามารถพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งได้ การใช้นโยบาย Bottom up เพื่อลดความเปราะบาง และความล่อแหลมของชุมชน จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

แล้วจะมีวิธีการอย่างไร ในฐานะคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC WG2) ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด ในรายงาน (SREX 2012, Special Report on Managing the Risks of Extreme Events and Disasters to Advance Climate Change Adaptation) สำหรับประเทศไทย ต้องเริ่มจากกรอบแนวคิดการทำงานเชิงระบบด้วยการปฏิรูป การบริหารจัดการนํ้า โดยถอดบทเรียนเหตุการณ์ในหลายๆ ประเทศ แล้วนำมาปรับให้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะใส่ใจ หรือเข้าใจในประเด็นต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นหรือไม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,333 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9