คลีนโลนเกิน 3 หมื่นเดือด แบงก์แห่ชิงตลาดบน ธปท.พอใจหนี้ลด

20 ม.ค. 2561 | 04:30 น.
ธปท.ยันเกณฑ์คุมหนี้คลีนโลนไม่กระทบสินเชื่อใหม่ ยอมรับวงเงินรายใหม่อาจลดลง เหตุแบงก์ปรับกระบวนการภายในเลือกกลุ่ม-ลูกค้าระมัดระวัง เผยเร็วไปที่จะประเมินผล ด้าน “ซัมมิท” ชี้ ตลาดแข่งดุชิงลูกค้ารายได้ระดับบน-ดอกเบี้ยถูกตามความเสี่ยงลด

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธปท.อยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลข เพื่อประเมินผลเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตภายใต้กำกับ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเบื้องต้นพบว่า ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) มีการปรับกระบวนการภายใน การคัดกรอง และเลือกกลุ่มลูกค้ามากขึ้น เช่น ลูกค้ารายได้ตํ่าจะมีความเสี่ยงสูง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่ธนาคารพาณิชย์ให้ความสำคัญ

[caption id="attachment_19230" align="aligncenter" width="334"] สมบูรณ์ จิตเป็นธม สมบูรณ์ จิตเป็นธม[/caption]

ส่วนในแง่การปล่อยสินเชื่อใหม่นั้น เท่าที่ประเมินเบื้องต้น ยังไม่มีผลกระทบต่ออัตราการปล่อยสินเชื่อ โดยลูกค้าเก่ายังคงได้วงเงินสินเชื่อเท่าเดิม แต่ลูกค้ารายใหม่อาจจะปรับลดวงเงินลงบ้าง ซึ่งไม่ได้เกิดจากกลไกหลักเกณฑ์ของธปท. แต่เป็นผลจากลูกค้ามีความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากบางรายอาจจะมองว่า ยอดสินเชื่อ 5 เท่าอาจจะสูงและอู้ฟู่มากเกินไป

ดังนั้น ผลของมาตรการอาจต้องรอดูผลอีกระยะ เพราะคิดว่า เร็วเกินไป อาจมองภาพไม่ชัด เนื่องจากเพิ่งจะมีผลบังคับใช้ประมาณ 1-2 เดือนเท่านั้น จึงต้องขอดูตัวเลขและรายงานจากธนาคารพาณิชย์ แต่เชื่อว่าในระยะยาว จะช่วยลดอัตราเร่งการก่อหนี้ และลดอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากกลุ่มลูกค้ารายได้ตํ่า

MP24-3332-A นายวิชิต พยุหนาวีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซัมมิท แคปปิตอล ลีสซิ่ง จำกัด กล่าวถึงมาตรการดังกล่าวว่า ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มระดับบน ที่มีรายได้ 3 หมื่นบาทต่อเดือน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์หลายแห่ง เริ่มหันมาจับกลุ่มลูกค้าระดับบนและกลางมากขึ้น จากเดิมที่จับกลุ่มระดับล่าง เพื่อหนีจากผลกระทบจากเกณฑ์ของธปท. รวมถึงการแข่งขันในเรื่องดอกเบี้ยด้วย

“หากลูกค้าที่มีประวัติชำระดี และเป็นลูกค้าระดับบน อัตราดอกเบี้ยจะยิ่งถูกลง โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 18-19% จากเพดานกำหนดไว้ที่ 28% ซึ่งเป็นไปตามความเสี่ยงของลูกค้า แต่บริษัทไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะเน้นลูกค้าระดับบน ที่มีรายได้เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือนมาโดยตลอด และปีนี้ก็ยังคงโฟกัสลูกค้าระดับบนต่อเนื่องด้วย และตั้งเป้าโต 102% จากปีก่อน แม้ว่าจะเริ่มทำตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลได้ไม่นาน ประมาณ 1 ปีเท่านั้น”

728x90-03-3-503x62 (1) ทั้งนี้ บริษัทจะพยายามสร้างพอร์ตสินเชื่อในสิ้นปีนี้ให้มียอดคงค้าง 1,700-1,800 ล้านบาท จากยอดคงค้างปีก่อนอยู่ที่ 700-800 ล้านบาท เฉลี่ย 4 แสนบาทต่อคน จากวงเงินกู้สูงสุด 1 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 60 งวด หรือ 5 ปี แต่เนื่องจากเป็นลูกค้าระดับบน ส่วนใหญ่ผ่อนชำระไม่ถึงระยะเวลากำหนด โดยจะนำเงินมาชำระปิดบัญชีก่อนครบกำหนด ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อของบริษัทจึงมีคุณภาพ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ค่อนข้างตํ่ามาก หรือแทบไม่มีหนี้เสียเลยตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ดำเนินธุรกิจมา

สำหรับการปล่อยสินเชื่อผ่านออนไลน์ (Digital Lending) มองว่า เป็นช่องทางที่ดีมากช่องทางหนึ่ง และจะเป็นช่องทางหลักในอนาคตของสถาบันการเงินไทย ซึ่งบริษัทมีความสนใจที่จะทำ หากกฎหมายมีความชัดเจนและเอื้อต่อการทำ เช่น ระบบพิสูจน์ตัวตนผ่านออนไลน์ (E-KYC) หรือโครงการพัฒนาการพิสูจน์ตัวตนผ่านดิจิตอล (National Digital ID)

[caption id="attachment_162534" align="aligncenter" width="377"] ลือชัย ชัยปริญญา ลือชัย ชัยปริญญา[/caption]

ขณะที่นายลือชัย ชัยปริญญา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานเครือข่ายธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ความต้องการสินเชื่อ ส่วนบุคคลยังมีต่อเนื่องและขยายตัวได้ดีไม่ว่าทิศทางเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ เพราะเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ใช้ในยามฉุกเฉินได้ แต่ในปีนี้อาจจะเริ่มเห็นผลจากหลักเกณฑ์การกำกับดูแลของธปท.ชัดเจนขึ้น แต่ธนาคารได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะฐานลูกค้าส่วนใหญ่ภาครัฐ และมีรายได้ประจำผ่านบัญชีธนาคาร(PayRoll) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ และมีรายได้เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,332 วันที่ 18 - 20 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9