‘นิชคาร์’เปิดศึกดีเอสไอ

19 ม.ค. 2561 | 10:43 น.
“นิชคาร์” ฮึดสู้ดีเอสไอ ร้อง “นายกฯตู่” หลังลูกค้าโดนเรียกสอบภาษีรถยนต์นำเข้าย้อนหลัง กระทบแผนเปิดตัวรถใหม่ หวั่นหลุดผู้นำเข้า “ลัมโบร์กินี” ส่วน “เกรย์มาร์เก็ต” ขอผ่อนเกณฑ์ภาษี “ปอร์เช่” ใหม่ หลังโดนเท่าตัว

กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ประกาศเดินหน้า ไล่บี้คืนภาษีย้อนหลังรถยนต์หรูนำเข้าที่เสียภาษีตํ่ากว่าความเป็นจริง โดยเป็นรถต้นทางจากประเทศอังกฤษ 1,047 คัน อิตาลี 336 คัน รวมมูลค่าภาษีที่รัฐบาลขาดรายได้กว่า 9,000 ล้านบาท ประเด็นนี้พาดพิงไปยังผู้นำเข้ารถยนต์หรูอย่างเป็นทางการหลายราย โดยเริ่มการตรวจสอบตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เช่น มาเซราติ และ ลัมโบร์กินี

728x90-03-3-503x62 (1) PAT99164 ล่าสุด “นิชคาร์” ผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการของซูเปอร์คาร์แบรนด์อิตาลีอย่าง ลัมโบร์กินี และปากานี รวมถึงแมคลาเรน จากอังกฤษ นำโดยนายเสรี ชินบารมี (รักวิทย์) และนายวิทวัส ชินบารมี เข้าร้องขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล

นายเสรีระบุว่า ได้รับความเดือดร้อนจากกรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีรถยนต์นำเข้าย้อนหลัง ขณะเดียวกันยังถูกดีเอสไออายัดรถใหม่เอาไว้ และส่งจดหมายเรียกลูกค้าที่ซื้อรถจากบริษัทไปแล้ว ให้นำรถและเอกสารเข้ามาตรวจสอบ ซึ่ง 2 ประเด็นนี้มีผลต่อธุรกิจในภาพรวมโดยเฉพาะภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของบริษัท

มีกระแสข่าวตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า “นิชคาร์” มีโอกาสหลุดจากการเป็นผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการของ “ลัมโบร์กินี” ในประเทศไทย ขณะที่เอสยูวีรุ่นใหม่ “ยูรุส” ที่บริษัทแม่จากอิตาลีหวังให้เป็นโมเดลสำคัญ ในการเพิ่มยอดขายรวมของ “ลัมโบร์กินี” เป็นเท่าตัว (ทั่วโลก) ซึ่งตามแผนในไทยต้องมีรถเปิดตัวภายในต้นปีนี้หรือไม่เกินไตรมาสแรก แต่ปัจจุบันยังไม่มีความเคลื่อนไหว

[caption id="attachment_162155" align="aligncenter" width="503"] นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส[/caption]

ด้านนายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส นายกสมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากเดือนสิงหาคม 2560 กรมศุลกากรปรับเกณฑ์การรับราคาใหม่ หรือจากเดิม “ปอร์เช่ พานาเมร่า” หนึ่งคันที่เคยเสียภาษีนำเข้า 2.7 ล้านบาท ก็เพิ่มขึ้นเป็น 4.4 ล้านบาท ซึ่งมีผลโดยตรงต่อต้นทุนของผู้นำเข้า สมาคมจึงอยากวิงวอนให้กรมศุลกากรผ่อนผันการจัดเก็บภาษีรถยนต์นำเข้ายี่ห้อปอร์เช่ โดยใช้หลักเกณฑ์เดิมไปก่อน จนกว่าจะมีการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ที่ชัดเจนในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาให้นำรถยนต์ออกจากเขตพื้นที่ปลอดภาษีได้

ข้อมูลจากกรมศุลกากรระบุว่า ปัจจุบันมีรถยนต์นำเข้าจอดค้างไว้ในเขตพื้นที่ปลอดภาษีกว่า 2,000 คัน โดยผู้ดำเนินธุรกิจรถยนต์นำเข้ายังไม่มาวางเงินประกันเพื่อนำรถออกไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,332 วันที่ 18 - 20 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-7-503x62