สศก. พร้อมรับมือผลกระทบหลังสิ้นสุดSSGไทย-ออสเตรเลีย

17 ม.ค. 2561 | 11:15 น.
ไทยพร้อมรับมือสิ้นสุดมาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ในปี 63 โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเนื้อโค ด้าน สศก. โดยกองทุน FTA พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโคเนื้อได้รับการอนุมัติจากกองทุนแล้ว 6 โครงการแนะพัฒนาคุณภาพขยายตลาดผู้บริโภคให้สินค้าของไทยมีการแข่งขันได้ในตลาดโลก

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า อีกประมาณ 2 ปี ไทยจะสิ้นสุดมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguards: SSG) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA) ในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งจะส่งผลให้ตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป สินค้าเกษตรที่นำเข้าจากออสเตรเลียจำนวน 17 รายการจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าและไม่จำกัดปริมาณการนำเข้าอีกต่อไป เช่น เนื้อโคและเครื่องใน เนื้อหมูและเครื่องใน นมและผลิตภัณฑ์นม เนย เนยแข็ง

cow1

ภาพรวมสถานการณ์ สินค้า SSGภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ที่ผ่านมา ไทยมีสินค้า SSG จำนวน 23 รายการ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มได้แก่ 1) กลุ่มที่สิ้นสุดมาตรการไปแล้วตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2558 จำนวน 6 รายการ ได้แก่ นมและครีมข้นไม่หวาน บัตเตอร์มิลค์ น้ำผึ้ง ส้ม องุ่น และมันฝรั่งปรุงแต่งแช่เย็นแช่แข็ง 2) กลุ่มที่จะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 (เป็น 0% ในปี 2564) จำนวน 17 รายการเช่น สินค้าเนื้อวัวและเครื่องใน สินค้าเนื้อหมูและเครื่องใน กลุ่มผลิตภัณฑ์นม เนย เนยแข็ง

สำหรับสินค้าเนื้อโคเป็นสินค้าที่ตลาดภายในประเทศมีความต้องการสูง และมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะเนื้อโคคุณภาพ โดยในช่วงปี 2556-2560 การบริโภคเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ของไทยขยายตัวที่ร้อยละ 4.80 ต่อปีประกอบกับผลผลิตภายในประเทศมีไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้าเนื้อโคคุณภาพจากต่างประเทศโดยเฉพาะออสเตรเลีย ซึ่งในปี 2559 ไทยนำเข้าเนื้อโคจากออสเตรเลียปริมาณสูงถึง 3,903 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 41.55 ของการนำเข้าเนื้อโคทั้งหมดของไทยซึ่งมีปริมาณ 9,392 ตัน เนื่องจากเนื้อโคเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกของออสเตรเลียและหากสิ้นสุดมาตรการ SSG แล้ว คาดว่าจะส่งผลให้มีการนำเข้าเนื้อโคจากออสเตรเลียเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีราคาถูกลง

cow2

ด้านนายวินิต อธิสุข ผู้อำนวยการ กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเสริมว่า หากมองถึงสินค้ากลุ่มที่ไทยนำเข้าจากออสเตรเลียเป็นหลัก และพบว่ามีปริมาณการนำเข้าสูงกว่าปริมาณที่ไทยเปิดตลาดไว้ ได้แก่

1) สินค้าเนื้อโค สดหรือแช่เย็น ซึ่งไทยเปิดตลาดภายใต้ความตกลง TAFTA (มีอัตราภาษีในโควตาร้อยละ 10.67 และอัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 51) โดยในปี 2560 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยมีปริมาณนำเข้าจากโลก 10,008.69 ตัน แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอาร์เจนตินา ในขณะที่ออสเตรเลีย (ม.ค.-ก.ย.) มีปริมาณส่งออกไปโลก0.78 ล้านตันโดยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น (27%) สหรัฐอเมริกา (23%) เกาหลีใต้ (15%) ไทย (0.3%) จะเห็นได้ว่าไทยไม่ใช่ตลาดหลักในการส่งออกของออสเตรเลีย ด้านราคาพบว่า สินค้าเนื้อโคของออสเตรเลียมีราคาสูงกว่าไทยค่อนข้างมาก โดยราคาเนื้อโคออสเตรเลียอยู่ที่ 271.73 บาท/กิโลกรัมแต่ราคาเนื้อโคไทยอยู่ที่ 96 บาท/กิโลกรัม

2) สินค้าเครื่องในโค สดหรือแช่เย็น ไทยเปิดตลาดภายใต้ความตกลง TAFTA (มีอัตราภาษีในโควตาร้อยละ 8 และอัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 33) ในปี 2560 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยมีปริมาณนำเข้าจากโลก 16,996.27 ตัน แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ อาร์เจนตินา (40.76%) ออสเตรเลีย (21.10%) และนิวซีแลนด์ (13.16%) ในขณะที่ออสเตรเลียมีปริมาณส่งออกไปโลก 0.11 ล้านตัน โดยส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย (20%) ญี่ปุ่น (13%) เกาหลีใต้ (12%) ไทย (3%)

สำหรับการพัฒนาคุณภาพโคเนื้อ เพื่อผลิตเนื้อโคคุณภาพตอบสนองความต้องการบริโภคสินค้าเนื้อโคคุณภาพสูง (Premium)ภายในประเทศไทยได้มีการผลิตสินค้าเนื้อโคคุณภาพสูง และเป็นที่รู้จักของกลุ่มผู้บริโภคโดยทั่วไป เช่น สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด ได้มีการนำโคเนื้อสายพันธุ์ บราห์มัน โคพันธุ์พื้นเมือง และโคพันธุ์ชาโรเลส์มาปรับปรุงสายพันธุ์ กระทั่งได้โคลูกผสมพันธุ์กำแพงแสน หรือที่รู้จักกันในนาม “โคเนื้อกำแพงแสน” ที่สามารถเข้ากับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศไทย และได้นำมาส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์เลี้ยงเป็นอาชีพสร้างรายได้ พร้อมส่งแปรรูปภายใต้แบรนด์ KU Beef จนได้รับความนิยมจากผู้บริโภค

cow3

นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้ร่วมกับ มกอช. และกรมปศุสัตว์ ในการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ตลอดห่วงโซ่การผลิต พร้อมทั้งได้เชื่อมโยงการตลาดผ่านเครือข่ายสหกรณ์ ในการเป็นศูนย์กลางการรวบรวมและส่งจำหน่าย นอกจากนี้ สหกรณ์ยังส่งเนื้อโคไปจำหน่ายยังห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร และแผงค้าเนื้อต่าง ๆรวมทั้ง ร้าน Ku Beef Butcher ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยปัจจุบันสหกรณ์มีกำลังการผลิตอยู่ที่1,500 ตัวต่อปี ขณะที่ สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัดนับเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเนื้อโคคุณภาพที่รู้จักกันในนาม“เนื้อโคขุนโพนยางคำ”ที่ผลิตโดยเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยและได้รับความเชื่อถือว่าเป็นเนื้อที่มีคุณภาพ สะอาดปลอดภัย ทัดเทียมกับเนื้อโคที่นำเข้าจากต่างประเทศ และมีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่เชื่อถือได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการเปิดตลาดสินค้าเกษตร สศก. จะดำเนินการจัดประชุมเพื่อเตรียมการเปิดตลาดสินค้าตามพันธกรณีความตกลง TAFTAในสินค้า SSG ที่จะสิ้นสุดมาตรการในกลุ่มที่ 2 ประมาณเดือนมีนาคม 2561 ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ กรมการค้าต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย สหกรณ์เครือข่าย โคเนื้อ จำกัด สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด และสหกรณ์การเลี้ยง ปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัด เป็นต้น

728x90-03-3-503x62 (1)

ทั้งนี้ สศก. โดยกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ได้ให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ในการเพิ่มศักยภาพธุรกิจสำหรับสินค้าโคเนื้อตั้งแต่ปี 2550 จำนวน 6 โครงการ งบประมาณ 154.75 ล้านบาท อาทิ โครงการคัดเลือกพ่อพันธุ์กำแพงแสนเพื่อใช้ผลิตน้ำเชื้อ โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพสูง โครงการเพิ่มมูลค่าเนื้อโคขุนเกรดคุณภาพ (Premium) เพื่อรองรับตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ซึ่งผลจากการดำเนินการตามโครงการต่าง ได้ช่วยให้ไทยมีศักยภาพในการผลิตโคเนื้อและเนื้อโคเพิ่มขึ้น โดยในช่วงปี 2556-2560 ไทยสามารถผลิตเนื้อโคได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.78 ต่อปีขณะที่สัดส่วนผลผลิตภายในประเทศต่อความต้องการบริโภคขยับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 73.88 ในปี 2556 มาเป็นร้อยละ 76.4 ในปี 2560

เกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีดังกล่าว สามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุน FTA เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการยกเลิก SSG ภายใต้ความตกลง TAFTA ในปี 2563 ได้ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ส่วนบริหารกองทุนภาคเกษตร โทรศัพท์ 0 2561 4727 หรือโทรสาร 0 2561 4726 และ www2.oae.go.th/FTA หรือ E-mail : [email protected]

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-7-503x62