‘โออิชิ’ลั่นขึ้นเบอร์1อาเซียน ชูวิชัน2020ครองผู้นำธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม

20 ม.ค. 2561 | 09:22 น.
โออิชิ กรุ๊ป ชูวิชัน 2020 ครองเบอร์ 1 ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มอาเซียนเพิ่มสัดส่วนกลุ่มนอน แอลกอฮอล์ไทยเบฟเป็น50%พร้อมเร่งสปีดกลุ่มอาหารพร้อมปรุง รับเทรนด์ตลาดโลกขณะที่ตลาดชาเขียวและอาหารญี่ปุ่นในประเทศมีการเติบโตลดลง

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มบมจ.ไทยเบฟเวอเรจเปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 1 ในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของอาเซียนภายในปี 2563 หรือปี 2020 จากปัจจุบันที่เป็นผู้นำในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และกำลังรุกหนักในตลาดเมียนมา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และล่าสุดอยู่ระหว่างการศึกษาถึงโมเดลธุรกิจที่จะใช้ขยายตลาดในเวียดนามด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มให้พอร์ตสินค้าในกลุ่มนอน แอลกอฮอล์ของไทยเบฟ มีสัดส่วน 50% ตามเป้าหมายที่วางไว้

ภายใต้5ยุทธศาสตร์ ประกอบไปด้วย การเติบโตอย่างต่อเนื่อง การนำเสนอสินค้าที่มีความหลากหลาย การสร้างตราสินค้าให้แข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศ การเข้าถึงผู้บริโภค และความเป็นมืออาชีพทั้งด้านบุคลากรและงานระบบ

[caption id="attachment_251058" align="aligncenter" width="335"] นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)[/caption]

สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดในปีนี้ ได้แก่ 1. การเข้าถึงผู้บริโภค (Customer Centric) เพื่อสร้างประสบการณ์และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค 2.นวัตกรรม (Innovation) การนำเสนอสินค้าบริการ ตลอดจนการทำตลาดรูปแบบใหม่เพื่อสร้างความแตกต่าง 3. การใช้ดิจิตอลขับเคลื่อนธุรกิจ (Digital Transformation)โดยใช้เครื่องมือดิจิตอลต่างๆ เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจ และเข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลายยิ่งขึ้น 4. สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง (Continue to Build & Support Brand)

นางนงนุช กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนใช้งบลงทุนกว่า 600 ล้านบาท โดยลงทุนในกลุ่มธุรกิจอาหารราว 400ล้านบาท ที่เหลือเป็นธุรกิจอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน (Package Food) และเครื่องดื่ม เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยในกลุ่มธุรกิจอาหารมีแผนขยายสาขาในประเทศเพิ่มขึ้นอีกไม่ตํ่ากว่า 20 แห่ง จากปี 2560 มีสาขารวม 241แห่ง (ณ เดือนกันยายน 2560) และต่างประเทศอีก 2 แห่ง

นอกจากนี้ยังมีแผนขยายแบรนด์ใหม่เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลาง-สูงที่มีกำลังซื้อสูง และมีความใส่ใจกับสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทรนด์ของโลก และการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ ว่าจะเป็นบาร์โค้ด และการรับชำระเงินโดยไม่ต้องใช้เงินสด เพื่อตอบรับโลกยุคสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ด้วย

ขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มมีแผนขยายตลาดไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศในอาเซียน โดยมีการจัดตั้งอินเตอร์เนชั่นแนลคอมเมอร์เชียลทีมขึ้น ซึ่งเป็นการผนึกรวมระหว่างทีมขายและการตลาด เพื่อเตรียมพร้อมขยายการรุกตลาดในประเทศอาเซียน โดยกลยุทธ์การทำตลาด ได้แก่ การรักษาฐานและความเป็นผู้นำในไทยให้แข็งแรง ผ่านการนำเสนออินโนเวชัน ไม่ว่าจะเป็นรสชาติใหม่ๆ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ, การรุกตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะใน CLMV (กัมพูชาสปป.ลาวเมียนมา และเวียดนาม)และการผนึกกำลังระหว่างกลุ่มธุรกิจในเครือ ไม่ว่าจะเป็น F&N, ภูไท และไทคอร์ป เป็นต้น เพื่อสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจให้แข็งแกร่ง และบรรลุวิชัน 2020 ที่วางไว้

728x90-03-3-503x62 (1) ด้านธุรกิจอาหารพร้อมทานถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและมีโอกาสในการขยายตัวสูง จากไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามเทรนด์ของโลกโดยในปีที่ผ่านมามีมูลค่าตลาดราว 9,000 ล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.4หมื่นล้านบาทในปี 2563 ขณะที่การบริโภคในประเทศมีปริมาณตํ่ายังสามารถขยายตัวได้อีกมากเมื่อเทียบกับในต่างประเทศที่ให้ความนิยมบริโภคจึงมีการขยายตัวต่อเนื่องโดยการทำตลาดจะเน้นการพัฒนารสชาติใหม่ๆ ออกสู่ตลาด การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั้งฟู้ด เซอร์วิส เช่น ร้านอาหาร ฯลฯ และการกระจายสินค้า ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปีที่ผ่านมา (1 ตุลาคม 2559 -30 กันยายน 2560) มีรายได้รวม1.35หมื่นล้านบาท ลดลง 0.6%แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจอาหาร 6,497ล้านบาท เติบโตลดลง 0.8%ธุรกิจเครื่องดื่ม 7,054ล้านบาทเติบโตลดลง 0.4% มีกำไรสุทธิ1,443ล้านบาทเพิ่มขึ้น 28.5% มาจากธุรกิจอาหาร 210 ล้านบาทเติบโต76.5%และธุรกิจเครื่องดื่ม 1,233 ล้านบาท เติบโต 22.8%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,332 วันที่ 18 - 20 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-7-503x62