"ประวิตร"ประชุมคกก.ขับเคลื่อนฯ ติดตามความคืบหน้าปัญหา IUU

17 ม.ค. 2561 | 08:39 น.
“ประวิตร”ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 เผยผลการประชุมมีความคืบหน้าหลายเรื่อง ทั้งเรื่องของ IUU การประกันภัยสินค้าการเกษตร และการพัฒนาพื้นที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าวและชุมชนดินแดง

วันนี้ (17 มกราคม 2561) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 1/2561

ภายหลังเลิกการประชุม เวลาประมาณ 11.00 น. พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยคณะ ได้ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลการประชุม ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

การประชุมในวันนี้มีการพิจารณาหลายเรื่อง ซึ่งมีความคืบหน้ามากพอสมควร และเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนอย่างเป็นระบบ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ทั้งนี้ มีการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างบูรณาการด้วยความร่วมแรงร่วมใจของหลายหน่วยงาน เนื่องจากบางปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น อีกทั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความมุ่งมั่นให้ทุกหน่วยงานได้ช่วยกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แท๊กซี่โอเค ประกันภัยสินค้าการเกษตร และการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าวและชุมชนดินแดง ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ

เรื่องการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการปฏิรูประบบประมงไทยในคราวเดียวกัน ก็มีความคืบหน้าไปมากพอสมควร โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนขึ้น ในเรื่องของการจัดการกองเรือ เรื่องของวิธีการหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการติดตามเฝ้าระวัง ทั้งเรื่องการทำประมงในประเทศและการทำประมงในน่านน้ำต่างประเทศ ขณะเดียวกันมีการบริหารจัดการเรือประมงพาณิชย์ตามแผนบริหารจัดการประมงไทย โดยไม่ให้กระทบต่อชาวประมง และต้องคำนึงถึงต่อความเดือดร้อนของชาวประมง รวมถึงเรื่องการออกใบอนุญาตการทำประมงในปี 2561 โดยกรมประมงกำลังทำหลักเกณฑ์เสนอคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ วึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนมกราคมนี้

เรื่องของการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รัฐบาลกำลังอยู่ในระหว่างจัดทำรีพอร์ตในเรื่องของการค้ามนุษย์ปี 2560 รายงานให้ทางสหรัฐอเมริกาทราบ ขณะเดียวกันก็ได้มีการปรับปรุง 2 เรื่องหลัก เรื่องแรก แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนและปฏิรูปการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมายประจำปี 2561 และเรื่องที่สอง แผนปฏิบัติการอันเนื่องมาจากผลการหารือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปด้านแรงงานในปี 2561

โดยเรื่องแรก แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนและปฏิรูปการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมายประจำปี 2561 นั้น รัฐบาลมุ่งเน้นขจัดปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืนใน 5 ด้าน มี 32 กิจกรรม มีประเด็นในการขับเคลื่อนสำคัญ ๆ เช่น เรื่องของการจัดระเบียบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เรื่องของการเร่งรัดและติดตามคดีการค้ามนุษย์และคดีที่เกี่ยวข้อง เรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจแรงงานตามมาตรฐานสากล และเรื่องของการสร้างกลไกการคุ้มครองช่วยเหลือเยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ และแรงงานผิดกฎหมาย

เรื่องที่สอง แผนปฏิบัติการอันเนื่องมาจากผลการหารือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปด้านแรงงานในปี 2561 เรื่องนี้เป็นไปตามกลไกการแก้ปัญแรงงานในภาคประมง ซึ่งมีผลต่อการปลดใบเหลืองจาก EU โดยรัฐบาลได้ดำเนินการใน 6 ด้าน 44 กิจกรรม คือมีประเด็นที่สำคัญ การขยายความร่วมมือในการเจรจาด้านแรงงานไปสู่รูปแบบทวิภาคีร่วมกับสหภาพยุโรป การบังคับใช้กฎหมาย การใช้มาตรการปกครองผู้กระทำผิดในภาคประมง การเสริมสร้างการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย ช่องทางในการคุ้มครองแรงงานกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว และเรื่องของการพัฒนากฎหมายเพื่อรองรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานในภาคประมง ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ ทางรัฐบาลได้เน้นย้ำในเรื่องของการกำหนดคำนิยามในเรื่องของแรงงานบังคับให้ชัดเจนขึ้น ในการกำหนดฐานความผิด บทลงโทษที่เหมาะสม รวมไปถึงกระบวนการช่วยเหลือคุ้มครองเยียวยาผู้เสียหายจากการบังคับที่ไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ ซึ่งทางรัฐบาลกำลังเร่งยกร่างแก้ไข พรบ. คุ้มครองแรงงาน โดยจะให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งประธานที่ประชุม ได้กำชับให้มีการรับฟังความเห็นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญก่อน จากนั้นให้กระทรวงแรงงานจัดทำประชาพิจารณ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ร่วมถึงส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับความสมบูรณ์ของกฎหมายและเมื่อกฎหมายนี้ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงนำสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ส่วนเรื่องการประกันภัยสินค้าการเกษตร ตามที่กระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันดำเนินการนั้นมีความคืบหน้า พอสมควร เช่น โครงการประกันภัยข้าวนาปี มีการนำตัวเลขการดำเนินการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปี 2559-2560 โดยในปี 2559 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1.57 ล้านราย และมีพื้นที่เอาประกันภัย 27 ล้านไร่ ปรากฎว่าในส่วนนี้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ 820 ล้านบาทเศษ แล้วจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันคืน 461 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นผลการดำเนินการในปี 2559 ส่วนปี 2560 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาคือ 1.59 ล้านราย และมีพื้นที่เอาประกัน 23 ล้านไร่ ซึ่งลดลงจากปี 2559 โดยมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไป 751 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นภาพรวมของโครงการประกันภัยข้าวนาปี ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการข้าวทั้งระบบ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แจ้งให้ทราบว่ามีการดำเนินการต่อยอดในเรื่องดังกล่าวด้วย โดยมีการพัฒนาและสนับสนุนข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลของเกษตรกรให้กับธนาคารที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเรื่องความเสียหายจากภัยพิบัติ หรือข้อมูลสถิติการเกษตร มอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นำไปใช้เป็นข้อมูลในการคำนวนค่าสินไหมทดแทน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ไปสำรวจและศึกษาวิจัยว่าเกษตรกรมีความเต็มใจหรือไม่ในการเข้าร่วมในเรื่องของการจ่ายค่าประกันภัยข้าวนาปี ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทางภาครัฐได้ดำเนินการไปแล้วเช่นกัน

สำหรับแนวทางที่จะดำเนินการในปี 2561 นี้ กระทรวงการคลัง โดยมีแผนจะปรับปรุงรูปแบบการรับประกันภัยการเกษตรให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราเบี้ยประกัน และเพิ่มวงเงินคุ้มครอง รวมถึงจะมีการเพิ่มพื้นที่เอาประกันภัยให้ครอบคลุมการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ทั่วประเทศ

เรื่องของแท็กซี่ ในส่วนของกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบกซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องดังกล่าวนี้ ก้ได้มีการจัดระเบียบรถรับจ้างสาธารณะประเภทรถแท๊กซี่อย่างต่อเนื่อง โดยความคืบหน้าในเรื่องที่กรมการขนส่งทางบกได้ประกาศใช้กฎกระทรวงที่จะกำหนดให้รถยนต์รับจ้างต้องเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางให้กับผู้ใช้บริการ ประกาศเป็นกฎกระทรวง 2 ส่วนด้วยกัน เป็นกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกผู้โดยสารไม่เกิน 7 คน พ.ศ. 2560 กับ กฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องของการขอรับใบอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาตให้กับรถรับจ้างบรรทุกโดยสารแบบพิเศษ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยกับผู้ใช้บริการรถสาธารณะ

โดยระเบียบที่เกี่ยวข้องกับแท๊กซี่ โดยเฉพาะแท๊กซี่โอเค ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงแท๊กซี่ VIP ด้วย โดยในรายละเอียดและกฎระเบียบของปัจจุบันจะทำให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์หลายอย่าง เมื่อแท๊กซี่ที่เข้าร่วมโครงการได้ดำเนินการตามประกาศ โดยแท๊กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ก็จะมีการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางหรือ GPS TRACKING ต้องมีเครื่องแสดงตัวตน มีปุ่มฉุกเฉิน มีอุปกรณ์ที่ใช้บันทึกภาพในรถ มีแอปพลิเคชัน และต้องมีป้ายไฟแท๊กซี่โอเคบนหลังคารถ สำหรับรถแท๊กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ ส่วนแท๊กซี่ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการหรือแท๊กซี่เก่า คงต้องมีอุปกรณ์ GPS TRACKING เหมือนกัน ต้องมีเครื่องแสดงตัวตน มีแอปพลิเคชัน ถ้าครบตามนี้ก็จะมีป้ายไฟข้างบนว่าแท๊กซี่โอเค

ทั้งนี้ รถแท๊กซี่ที่จดทะเบียนใหม่และเก่าที่เป็นภาคสมัครใจนั้นจะต้องไปสังกัดศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้างภาคเอกชนที่ดำเนินการจัดตั้งแล้วทุกคัน โดยในส่วนโครงการของขนส่งทางบกขณะนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการเดินรถแท๊กซี่หรือ DLT แท๊กซี่เซ็นเตอร์ โดยศูนย์ดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลในการให้บริการรถแท๊กซี่ไม่ให้มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อความปลอดภัย การปฏิเสธผู้โดยสารหรือมีการก่อเหตุอาชญากรรม ศูนย์ DLT แท๊กซี่เซ็นเตอร์ ก็จะไปเชื่อมกับศูนย์ของภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการมันครอบคลุมยิ่งขึ้น ในส่วนศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้างภาคเอกชนขณะนี้ได้มีการอนุมัติเห็นชอบแล้วทั้งสิ้น 12 ศูนย์ และเรื่องของอุปกรณ์บันทึกการเดินทาง GPS TRACKING ก็อนุมัติให้สามารถดำเนินการได้ใน 6 ชนิด และมาตรราคาค่าโดยสารก็อนุมัติให้ใช่ได้ 8 รุ่น ซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่แท๊กซี่โอเคต้องใช้ตามมาตรฐานที่หน่วยงานภาครัฐกำหนด ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ กรมการขนส่งทางบกจะมีการเปิดตัวใช้แท๊กซี่โอเคอย่างเป็นทางการ

728x90-03-3-503x62 (1) นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงกลาโหมได้กล่าวย้ำในตอนท้ายของการแถลงข่าวถึงความคืบหน้าของการพัฒนาพื้นที่ริมคลองลาดพร้าว ซึ่งถือเป็นโครงการที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้นยังต้องการยกระดับการพัฒนาภาพรวมและคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานครทั้งหมด รวมไปถึงในส่วนการบริหารจัดการน้ำซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันในการระบายน้ำเมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมต่าง ๆ โดยประธานที่ประชุมได้สั่งกำชับให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะการดูแลเรื่องบ้านมั่นคงของประชาชน ในส่วนการรื้อย้ายบ้านเรือนในปัจจุบันมีบ้านเรือนที่ต้องรื้อย้ายจำนวน 6,540 หลังคาเรือน โดยย้ายแล้วจำนวน 1,569 หลังคาเรือน คิดเป็นร้อยละ 24.40 ทั้งนี้ ก็ขอความร่วมมือไปยังประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้เกิดผลประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการรื้อย้ายอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างทั่วถึง

พร้อมกันนี้ ในส่วนการก่อสร้างบ้านมั่นคง ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ 7,081 ครัวเรือน ที่จะสามารถมีที่อยู่อาศัยได้เพิ่มมากขึ้น โดยในปัจจุบันได้ดำเนินการแล้ว 2,453 ครัวเรือนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ คิดเป็นร้อยละ 34.64 และอยู่ในระหว่างก่อสร้างอีก 1,285 ครัวเรือน โดยจะเร่งรัดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ทั้งนี้ จะหาแนวทางสนับสนุนค่าเช่าบ้านเพิ่มเติมให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการกรณีที่ก่อสร้างเกิน 6 เดือน สำหรับในส่วนการก่อสร้างเขื่อนที่มีระยะทาง 45.3 กิโลเมตร เพื่อตอกเสาเข็มเพื่อทำเขื่อนกันแนวน้ำตลอดริมคลองลาดพร้าว ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 16 กิโลเมตร จำนวน 16,990 ต้น ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 28.32 ในการดำเนินการ โดยจะดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2561

รวมทั้งโครงการชุมชนเมืองดินแดง ที่ทางรัฐบาลได้พยายามดำเนินโครงการนี้อย่างเต็มที่ จนสามารถทำให้เกิดความสำเร็จในรัฐบาลยุคนี้ และเป็นโครงการที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ ของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ด้านสาธารณูปโภค ด้านความปลอดภัยของเยาวชนในพื้นที่ การกำจัดปัญหายาเสพติด การเสริมสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว โดยรัฐบาลได้วางแผนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างการบริหารจัดการดูแลกันเองในอนาคต โดยความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงการระยะที่หนึ่ง อาคารพักอาศัยแปลง G มีจำนวน 334 หน่วย หรือ 334 ครัวเรือนที่สามารถย้ายไปอยู่ได้ ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วกว่า ร้อยละ 40.85 คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-7-503x62