คาดเงินเฟ้อปีลิงบวก1-2% สรุปปี 58 ติดลบในรอบ 6 ปี

08 ม.ค. 2559 | 02:28 น.
พาณิชย์สรุปเงินเฟ้อปี 58 ลบ 0.90% เป็นการติดลบอีกครั้งในรอบ 6 ปี เหตุราคาน้ำมัน-ค่าเอฟทีลดลงต่อเนื่อง ขณะคาดเงินเฟ้อปี 2559 พลิกกลับมาเป็นบวกในกรอบ 1-2% ชี้น้ำมันร่วงอีกไตรมาส 1 อาจยังได้เห็นการติดลบ

[caption id="attachment_25252" align="aligncenter" width="400"] สมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ สมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์[/caption]

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือเงินเฟ้อ ในเดือนธันวาคม 2558 ว่า อยู่ที่ 105.74 ลดลง หรือติดลบ 0.39% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 และติดลบ 0.85% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมของปี 2557 ถือเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ของปี 2558 ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2558 ติดลบ 0.90% ซึ่งเป็นการติดลบอีกครั้งในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 ที่มีการใช้นโยบายประชานิยมในการลดค่าครองชีพต่างๆ

สำหรับเงินเฟ้อในปี 2558 ที่ติดลบมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ผักและผลไม้สด รวมทั้งเนื้อสุกรและไข่ไก่ และค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) มีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง(น้ำมันดิบ)ในตลาดโลกเดือนธันวาคม 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 34.27 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลงจากช่วงต้นปี (ม.ค. 58) ที่อยู่ 45.6 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เดือนธ.ค.57) ที่อยู่ระดับ 61.31 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

นอกจากนี้เงินเฟ้อทั้งปี 2558 ที่ติดลบ 0.90% มาจาก ดัชนีหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ติดลบ 2% ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่ง และการสื่อสาร ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.14% ตามการสูงขึ้นหมวดข้าว แป้ง หมวดผักและผลไม้ หมวดอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น 1.65% (อาหารบริโภค-ในบ้าน สูงขึ้น 1.35% อาหารบริโภค-นอกบ้าน สูงขึ้น 2.20%)

"เงินเฟ้อทั้งปี 2558 ถือว่าอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้จะขยายตัวอยู่ในช่วงติดลบ 1% ถึงติดลบ 0.2% ส่วนปี 2559 เบื้องต้นคาดจะขยายตัวอยู่ในกรอบระหว่าง 1-2% ภายใต้เงื่อนไขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 3-4% ราคาน้ำมันดิบที่ดูไบอยู่ระหว่าง 48-54 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระหว่าง 36-38 บาทบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ"

ทั้งนี้คาดสถานการณ์เงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกปี2559 น่าจะเริ่มกลับมาเป็นบวก แต่ก็ยังต้องจับตาสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพราะราคาน้ำมันลดลงไปจากที่คาดไว้มาก และเกรงว่าราคาน้ำมันจะลดลงต่อไปอีก เพราะเริ่มมีการพูดถึงที่ระดับ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลแล้ว รวมถึงกังวลว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรอีกหลายๆ ตัวลงตามไปด้วย โดยกระทรวงจะมีการประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อปี 2559 อีกครั้งในเดือนมีนาคมนี้" นายสมเกียรติ กล่าวและว่า

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปไม่รวมกลุ่มราคาอาหารสดและพลังงาน) ในเดือนธันวาคม 2558 เท่ากับ 106.11 ติดลบ 0.02% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้น 0.68% เทียบกับเดือนเดียวกันปี 2557 และเฉลี่ยทั้งปี 2558 เพิ่มขึ้น 1.05% เทียบกับปี 2557

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559