ปตท.ลุยโครงสร้างพื้นฐาน มั่นใจเอ็นจีวีจ่อขยับ50สต.

08 ม.ค. 2559 | 07:00 น.
ปตท.เตรียมเม็ดเงินปี 2559 กว่า 5.2 หมื่นล้านบาท ระดมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่ท่อก๊าซเส้น5 และคลังแอลเอ็นจีเฟส 2 อีก 7.5 ล้านตัน ขยายแผนรองรับนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่ม พร้อมมองหาโอกาสจับมือพันธมิตรส่งขายแอลเอ็นจีในภูมิภาค โดย "เทวินทร์" เชื่อมั่นว่าปีนี้จะได้ปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีได้อีก 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในปี 2559 นี้ ปตท.ได้เตรียมเงินลงทุนไว้ที่กว่า 5.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้ในแผนร่วมทุนและการลงทุนในบริษัทลูกที่ถือหุ้น 100% รวมทั้งการลงทุนขยายธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

ขณะที่ในส่วนของโครงการลงทุนท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 จาก จ.ระยอง ไปยังระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ผ่าน อ.ไทรน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา-โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ/พระนครใต้ มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ก็จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ ซึ่งจะเชื่อมโยงจากภาคตะวันออก ภาคกลางไปยังภาคตะวันตก ผ่านโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(ไอพีพี) ส่งผลให้ปริมาณจัดหาก๊าซเพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าครอบคลุมมากขึ้น หากในอนาคตเกิดปัญหาแหล่งก๊าซก็จะสามารถใช้ก๊าซจากท่อเส้นที่ 5 ส่งทดแทนได้

นอกจากนี้ ยังศึกษาลงทุนคลังเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เฟส 2 เพิ่มอีก 7.5 ล้านตัน จากปัจจุบันเฟส 1ขนาด 5 ล้านตัน รวมถึงส่วนขยายที่จะรองรับเพิ่มได้อีก10 ล้านตัน ขณะที่โครงการคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ ขนาด 3 ล้านตัน ที่เมียนมา คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้เช่นกัน "การจัดหาแอลเอ็นจี จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการทดแทนก๊าซในอ่าวไทย แม้ว่าในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี (พีดีพี 2015) จะลดสัดส่วนก๊าซในการผลิตไฟฟ้าลงจากปัจจุบัน 64% เป็น 30-40% ในปี 2579

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความต้องการใช้ก๊าซจะลดลง แต่เป็นการกระจายไปยังเชื้อเพลิงอื่นเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในอนาคตจะต้องนำเข้าแอลเอ็นจีกว่า 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 5% ของความต้องการใช้ก๊าซทั้งหมด ดังนั้นในส่วนของการจัดหาทั้งสัญญาระยะยาว และตลาดจร จะต้องเจรจาจัดหาเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันภาวะตลาดแอลเอ็นจีเป็นโอกาสของผู้ซื้อที่จะเจรจาเพื่อทำสัญญาระยะยาว เพราะสหรัฐอเมริกา เริ่มทยอยผลิตแอลเอ็นจีส่งออกบ้างแล้ว ขณะที่แหล่งโมซัมบิกของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)หรือ ปตท.สผ.ก็เตรียมพร้อมพัฒนาเช่นกัน

นายเทวินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ปตท.ยังมองหาโอกาสขยายลงทุนในธุรกิจแอลเอ็นจีเพื่อส่งขายไปยังตลาดในภูมิภาค เบื้องต้นมีแผนจะร่วมมือกับผู้ใช้แอลเอ็นจีรายใหญ่ในภูมิภาค เพื่อจัดหาแอลเอ็นจีและสร้างรายได้จากตลาดในภูมิภาค รวมทั้งเชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนจัดหาแอลเอ็นจีลดลงด้วย

สำหรับแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) คาดว่าในช่วงต้นปี 2559 ราคาจะปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 14 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันอยู่ที่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทางกระทรวงพลังงานอาจปรับขึ้นราคาเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุน จากปัจจุบันราคาขายปลีกอยู่ที่ 13.50 บาทต่อกิโลกรัม โดย ปตท. จะเปิดโอกาสให้เอกชนลงทุนสถานีบริการเอ็นจีวีเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีประมาณ 500 แห่ง รวมทั้ง ปตท. จะขายเอ็นจีวีแนวท่อเพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซียนั้น ปัจจุบันราคาถ่านหินยังไม่ดีนัก ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ ซึ่งหากดำเนินการต่อ การลงทุนก็จะอยู่ในงบแผนลงทุนใหม่ที่บริษัทได้จัดสรรไว้ประมาณ 20% ของงบลงทุนช่วง 5 ปี( 2559-2563 วงเงิน 2.98 แสนล้านบาท) แต่หากพบว่าไม่น่าสนใจก็จะยังรักษาไว้ หรือจะขายก็ได้หากมีผู้สนใจ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559