กนอ.จี้แก้ภัยแล้งนิคมฯลำพูนเจาะ20บ่อบาดาลซื้อนํ้าเอกชน

07 ม.ค. 2559 | 11:00 น.
กนอ.จับตาสถานการณ์ภัยแล้ง นิคมฯภาคเหนือ หลังเขื่อนแม่งัดเหลือน้ำป้อนไม่ถึง 20 % ทุ่ม 20 ล้านบาท ขุดบ่อบาดาลรับมือ ได้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 5 พันลูกบาศก์เมตรต่อวัน หากเอาไม่อยู่เจรจาซื้อน้ำจากบ่อดินของเอกชนอีก 4 แสนลูกบาศก์เมตร หวังรองรับความต้องการได้อีก 200 วัน พร้อมเฝ้าติดตามนิคมฯ ลุ่มเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด หวั่นไม่พอ ต้องขอเปิดบ่อบาดาลเพิ่ม

ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีความเป็นห่วงว่าภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงได้สั่งการให้ กนอ.ไปติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ที่ขณะนี้พบว่า จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัด ไหลลงสู่แม่น้ำกวง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบของนิคมฯ ภาคเหนือ มีปริมาณน้ำอยู่ในระดับต่ำได้เพียง 20% ของความจุ เท่านั้น หากไม่มีแผนบริหารจัดการน้ำที่เพียงพอ ก็จะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำใช้ในหน้าร้อนที่จะถึงนี้

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งดังกล่าว ทาง กนอ.ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ 3 มาตรการ ได้แก่ การจัดสรรงบประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อใช้เจาะบ่อบาดาล โดยร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อไปดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลจำนวน 20 บ่อ คิดเป็นปริมาณน้ำใช้งานได้ 5 พันลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อมาสำรองไว้ หากกรณีที่อ่างเก็บน้ำขนาดความจุ 5 แสนลูกบาศก์เมตร ที่สูบมาจากแม่น้ำกวงเกิดการแห้ง ไม่สามารถทำน้ำประปาได้ จะได้มีน้ำบาดาลส่วนนี้มาช่วยเสริม จากปริมารการใช้น้ำของนิคมฯ ภาคเหนืออยู่ที่ประมาณ 1.7 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน

อีกทั้ง การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีอยู่ในนิคมประมาณ 84 ราย หันมาใช้น้ำที่ผ่านการรีไซเคิลมากขึ้น จากปัจจุบันมีอยู่ราว 1 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำดิบทำประปาได้อีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ หากเกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรง และการใช้น้ำจากทั้ง 2 มาตรการไม่สามารถรับมือได้ ทาง กนอ.ได้เตรียมแผนสำรองที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับภาคเอกชน เพื่อขอซื้อน้ำจากบ่อดินในปริมาณ 4 แสนลูกบาศก์เมตร สามารถป้อนความต้องการใช้ภายในนิคมฯได้อีก 200 วัน ดังนั้น จากทั้ง 3 มาตรการดังกล่าวจึงเชื่อว่า การจัดหาปริมาณน้ำดังกล่าว น่าจะช่วยให้ปัญหาขาดแคลนน้ำของนิคมฯภาคเหนือในปีนี้น่าจะผ่านพ้นไปได้

"ขณะนี้ กนอ.ต้องเร่งเตรียมแผนรองรับการบริหารจัดการน้ำให้กับนิคมฯ ภาคเหนือให้เพียงพอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิต ซึ่งนิคมฯ ภาคเหนือถือว่าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่สุดของทางภาคเหนือ มีพื้นที่กว่า 1.7 พันไร่ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาคารและเครื่องดื่ม เกษตร และเครื่องยนต์ เป็นต้น"

นายวีรพงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนนิคมอุตสาหกรรมที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงนี้ก็ตาม แต่ก็ต้องเฝ้าติดตามพิเศษ จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในภาคกลาง เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค(บ้านหว้า) และนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ที่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา อาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำในเขื่อนใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ที่ป้อนน้ำให้กับลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้อย แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่านิคมฯ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากจะยังมีการปล่อยน้ำเพื่อมาใช้สำหรับการอุปโภคและบริโภคอยู่

นอกจากนี้ทั้ง 3 นิคมฯ ก็ไม่ได้ใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามากนัก เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้น้ำจากน้ำบาดาล เพื่อมาผลิตเป็นประปาป้อนความต้องการอยู่แล้ว แต่หากกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉินจริงๆ ก็ต้องทำเรื่องขอไปยังกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อขอเปิดบ่อน้ำบาดาลที่ปิดไปชั่วคราว สูบน้ำขึ้นมาป้อนความต้องการได้

สำหรับนิคมในภาคตะวันออกนั้นโดยเฉพาะในจังหวัดระยอง สถานการณ์ภัยแล้งไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากฤดูฝนที่ผ่านมา สามารถเก็บกักนํ้าได้ในปริมาณมาก ประกอบกับทางบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรนํ้าภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ได้มีแผนสำรองไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการหาแหล่งนํ้าต้นทุนจากแหล่งนํ้าของภาคเอกชนอื่นๆ รวมถึงเร่งรัดการลงทุนในโครงการวางท่อส่งนํ้าต่างๆ และการพัฒนาแหล่งนํ้าดิบของตัวเอง เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559