จับสัญญาณ 'ยิ่งลักษณ์' ลี้ภัยอังกฤษ ... ไม่ง่าย

19 ม.ค. 2561 | 16:53 น.
“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” หายไปจากหน้าสื่อต่าง ๆ พักใหญ่ หลังหลบหนีคำพิพากษาจำคุก 5 ปี ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 ท่ามกลางกระแสข่าว นายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชาย อยู่ระหว่างการประสานกับทางอังกฤษเพื่อให้น้องสาวได้สถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งหากสำเร็จ 'ยิ่งลักษณ์' จะมีสิทธิพำนักในอังกฤษได้นานถึง 5 ปี

ในระหว่างที่หลายฝ่ายกำลังจดจ้องความเคลื่อนไหวของอดีตนายกฯ คนที่ 28 ของไทยอยู่นั้น วันที่ 6 ธันวาคม 2560 มีการเผยแพร่ภาพ 'ยิ่งลักษณ์' ในโลกออนไลน์ ขณะปรากฏตัวที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2561 ยิ่งลักษณ์สร้างความฮือฮาอีกครั้ง เมื่อ “แอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชลล์” อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ประจำประเทศไทย ได้เผยภาพของยิ่งลักษณ์ ถ่ายภาพกับนักท่องเที่ยวหญิงที่หน้าห้างแฮร์รอดส์ กลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม สดใสในชุดเสื้อแจ๊กเกตสีครีม ผูกผ้าพันคอสีฟ้า และถือกระเป๋าหรูยี่ห้อแอร์เมส (Hermes) สีชมพู มูลค่าร่วม 2 ล้านบาท

++ “ยิ่งลักษณ์” ใช้วีซ่านักลงทุน
เมื่อภาพมันฟ้องขนาดนั้น ยากที่ทางการไทยจะกล้าปฏิเสธ ในที่สุด ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยอมรับว่ามีการรับรู้กันตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 เนื่องจากรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษเล่าให้ฟังว่า ยิ่งลักษณ์อยู่ที่ลอนดอน พร้อมสันนิษฐานว่า ยิ่งลักษณ์ใช้พาสปอร์ตของชาติอื่น เพราะถูกกระทรวงการต่างประเทศของไทยเพิกถอนพาสปอร์ตทั้ง 4 ฉบับแล้ว

จากคำยืนยันจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงค่อนข้างชัดเจนว่า ขณะนี้ยิ่งลักษณ์ ใช้วีซ่านักลงทุนแทนการยื่นขอลี้ภัยในประเทศอังกฤษ ทั้งมีคำยืนยันจากแหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ยื่นขอลี้ภัยแต่เลือกใช้วีซ่านักลงทุน มีเหตุผลสำคัญ 4 ประการ คือ หนึ่งอาจจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 2.หากเป็นผู้ลี้ภัยจะถูกจำกัดสิทธิในการเคลื่อนไหวต่างๆ 3.การใช้วีซ่านักลงทุนได้สิทธิพักอาศัยในอังกฤษ และ 4.เป็นช่องทางให้ “น้องไปป์” นายศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย ได้เรียนต่อที่ประเทศอังกฤษได้

แม้ว่าการใช้วีซ่านักลงทุนในอังกฤษของยิ่งลักษณ์ ด้วย เงินก้อนโต ต้องมีเงินลงทุนเบื้องต้นไม่ตํ่ากว่า 2 ล้านปอนด์ (88 ล้านบาท) เพื่อแลกกับการทำธุรกิจในอังกฤษได้นานกว่า 3 ปี เมื่อครบกำหนดผู้ร้องขอยื่นขยายเวลาอยู่อังกฤษต่อได้อีก2 ปี หากนำเงิน 2 ล้านปอนด์ไปลงทุนในอังกฤษ แต่ทางเลือกนี้ ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 1 ปี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยทรัพย์สินของ ยิ่งลักษณ์ และบุตรชาย พบว่ามีมูลค่ามากถึง 612,379,231 บาท และหากยิ่งลักษณ์ต้องการตั้งรกรากที่อังกฤษก็สามารถทำได้ หากควักกระเป๋าอีก 10 ล้านปอนด์ หรือ 440 ล้านบาท ลงทุนอีกครั้ง

[caption id="attachment_250760" align="aligncenter" width="503"] เผยแพร่โดย แอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชลล์ เผยแพร่โดย แอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชลล์[/caption]

++ลี้ภัยในอังกฤษไม่ง่าย
อย่างไรก็ตาม หากย้อนทบทวนความเคลื่อนไหวของยิ่งลักษณ์ ก่อนเลือกทุ่มทุนในอังกฤษเพื่อแลกกับการได้วีซ่านักลงทุน จะเห็นร่องรอยความพยายามที่จะขอลี้ภัยทางการ เมืองมาก่อน โดยการรายงาน ข่าวของสำนักงานซีเอ็นเอ็น ที่ระบุว่า ยิ่งลักษณ์ได้ดำเนินการขอลี้ภัยทางการเมืองในอังกฤษ หลังศาลมีคำพิพากษาจำคุก 5 ปี และเธอได้หลบหนีออกจากประเทศไทยทางประเทศกัมพูชา

แม้รู้ว่าการลี้ภัยในอังกฤษยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร เช่นเดียวกับนายทักษิณ ที่ได้ใช้ความพยายามขอใช้สถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองมาก่อนแต่ไม่สำเร็จ ขนาดยอมซื้อทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้ แต่สุดท้ายก็ต้องขายทิ้งให้กลุ่มทุนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สอดคล้องกับการเปิดเผยของ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ ระบุค่อนข้างชัดเจนว่า อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของไทย ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีเหตุที่จะลี้ภัย เนื่องจากในต่างประเทศจะไม่มองการหนีคำพิพากษาของศาลเป็นเรื่องลี้ภัย ที่สำคัญ ยิ่งลักษณ์ผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมาแล้ว กว่า 3 ปี

ทั้งนี้ ทางการอังกฤษจะเปิดให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาลี้ภัยในประเทศได้ ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้ยื่นต้องถูกข่มเหงรังแกไม่ว่าจะจากเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ความคิดเห็นทางการเมือง หรือจากปัญหาอื่นๆ อาทิ สถานการณ์ทางศาสนา วัฒนธรรม สังคม หรือการเมืองในประเทศของตน ที่ผู้ขอยื่นลี้ภัยรู้สึกว่าไม่ได้รับการปกป้องจากเจ้าหน้าที่ในประเทศของตนเอง ต้องออกจากประเทศ และไม่สามารถเดินทางกลับมายังประเทศได้ เพราะกลัวการถูกข่มเหงรังแก ซึ่งต้องยื่นโดยเร็วที่สุด ถ้าช้าก็มีโอกาสได้รับการปฏิเสธมากขึ้น

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6-2 นอกจากนั้น ยังไม่เคยปรากฏว่า มีนักการเมืองไทยคนใดที่สามารถลี้ภัยในอังกฤษได้เลย ส่วนใหญ่เป็นการพำนักเพียงระยะสั้นๆ อาทิ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกคณะรักษาความสงบเรียบ ร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ก็ได้เดินทางไปพำนักที่อังกฤษ และถึงแก่อสัญกรรม ณ โรงพยาบาลคอมเวลล์ ในประเทศอังกฤษ

ขณะที่ผู้ขอลี้ภัยทางการเมือง หลังรัฐประหารของ คสช. อาทิ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำแนว ร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ขอลี้ภัยไปอยู่ประเทศสวีเดน นายจรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำนปช. นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตนักวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปอยู่ฝรั่งเศส นายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ ผู้ต้องหาทำความผิดตามมาตรา 112 ไปอยู่นิวซี แลนด์ เป็นต้น

TP14-3332-2A ++อดีตนายกฯลี้ภัยต่างแดน
นอกจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่พยายามหาช่องทางลี้ภัยไปอยู่อังกฤษ หากย้อนรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทย ยังมีผู้นำของไทยอีกหลายคนที่ประสบกับวิบากกรรมทางการเมือง จนต้องเดินทางหลบหนีไปพำนักอยู่ในต่างประเทศ ประกอบด้วย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย ลี้ภัยไปปีนัง ประเทศมาเลเซีย

ขณะที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ลี้ภัยการเมืองจากการทำรัฐประหารของ พล.อ.สฤษดิ์ธนะรัชต์ หลบหนีไปกับผู้ติดตาม โดยผ่านประเทศกัมพูชา และไปขอลี้ภัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น นายทวี บุณยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ต้องลี้ภัย เนื่องจากคณะทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาล ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ปีนังประเทศมาเลเซีย

นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ในช่วงแรก ได้ลี้ภัยไปยังประเทศสิงคโปร์ ก่อนจะเดินทางต่อไปยังประเทศจีน และไปยังปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนพำนักลี้ภัยอยู่ที่นั่นจนเสียชีวิต พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ลี้ภัยไปฮ่องกง

จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ก็ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ อันเนื่องจากวิกฤติการเมืองเป็นเวลานานหลายปี และกลับมาเสียชีวิตในประเทศ ต่อมาการยึดอำนาจโดยคณะปฏิวัติที่นำโดย พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ทำให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษ แม้จะมีโอกาสกลับมาประเทศไทย แต่ไม่นานก็เจ็บป่วยจนต้องไปรักษาตัวที่ต่างประเทศและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 หลังไม่มาฟังคำตัดสินของศาลฎีกาในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก และหนีคดีทั้งหมด 6 หมายจับ ต้องลี้ภัยไปมอนเตเนโกร ก่อนไปปักหลักพักอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

ด้วยเหตุนี้การลี้ภัยของ ยิ่งลักษณ์ ในประเทศอังกฤษ จึงไม่ง่ายเฉกเช่นนายทักษิณ ที่เคยพยายามและล้มเหลวในที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,332 วันที่ 18 - 20 มกราคม พ.ศ. 2561
728x90-03