บ.อเมริกันชั้นนำมั่นใจเศรษฐกิจไทย แม้แนวโน้มปีนี้ชะลอตัวแต่ยังเป็นฐานลงทุนที่ดี

07 ม.ค. 2559 | 08:00 น.
เชฟรอน-แคทเธอร์พิลลาร์ บริษัทชั้นนำจากสหรัฐอเมริกาสะท้อนความเชื่อมั่นต่อศักยภาพเศรษฐกิจไทย มองโอกาสในปี 59 จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานและท่องเที่ยว พร้อมจับตามองความคืบหน้านโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ

แบรด มิดเดิลตัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชฟรอน เอเชีย เซาธ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ธุรกิจสหรัฐฯ มาอยู่ที่ประเทศไทยกว่า 100 ปี มีวิถีการทำงานอย่างใกล้ชิดในทุกๆ ด้านกับรัฐบาลไทยและทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมของไทยเพื่อสนับสนุนการเติบโตและทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทย เขาเองพึงพอใจและภาคภูมิใจต่อสิ่งที่บริษัทเชฟรอนได้มีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจไทย รางวัลด้านซีเอสอาร์ ซึ่งบริษัทเพิ่งได้รับเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับถึงบทบาทของบริษัทสหรัฐฯ ต่อประเทศไทย

"จุดแข็งประการหนึ่งในหลายๆ ด้านของไทย คือ แรงงานที่มีความแข็งแกร่ง ไทยทำหลายสิ่งหลายอย่างถูกต้องเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน มันเป็นเรื่องของการทำสิ่งที่ประสบความสำเร็จในอดีตต่อไป สร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียม สร้างตลาดเสรี ให้สิทธิประโยชน์เพื่อให้ภาคธุรกิจพัฒนาต่อไป ในอดีตไทยทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ดีซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในตำแหน่งที่ยืนอยู่ในเวลานี้ คำแนะนำของผมคือ ไทยควรจะทำสิ่งที่ดีต่างๆ เหล่านั้นต่อไป และสิ่งที่ดีจะเกิดขึ้นตามมาเช่นเดิม"

ผู้บริหารของเชฟรอนยังกล่าวต่อไปว่า นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ระหว่าง 3-4% ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจำนวนมากที่กำลังเดินหน้า แนวโน้มการท่องเที่ยวเป็นไปมีทิศทางที่สดใส อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกอย่างมากจึงต้องลุ้นกับเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบ

"ผมมั่นใจอย่างยิ่งในความสามารถของไทย มั่นใจในอนาคตของไทย และเราภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทยเสมอมาและต่อจากนี้ไป ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจสหรัฐฯ และประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง เป็นสิ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างหนักและภาคภูมิใจได้"

ด้านนางอนุตรา สินชัยพานิช ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรและรัฐสัมพันธ์ บริษัท แคทเธอร์พิลลาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นแบรนด์ดังระดับโลกของสหรัฐฯในแวดวงเครื่องจักรและรถใช้งานด้านการก่อสร้าง เปิดเผยว่า บริษัทมีโรงงาน 2 แห่งที่เพิ่งตั้ง และผลิตได้ 3 ปีที่เมืองไทย ธุรกิจของโรงงานตอนนี้เป็นไปตามแผน โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกไม่ได้ขายในประเทศไทย "เราเลือกไทย (นิคมเหมราช จ.ระยอง) เป็นสถานที่ตั้งโรงงานเมื่อ 5 ปีที่แล้วส่วนหนึ่งเพราะความเข้มแข็งของไทยในเรื่องโลจิสติกส์ ช่องทางขนส่งไปทางเรือทำได้ง่าย รวมถึงสิทธิประโยชน์จากบีโอไอด้านภาษี นอกจากนี้ ไทยมีฐานซัพพลายของอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเรานำมาต่อยอดพัฒนาเป็นซัพพลายเออร์ท้องถิ่นของเราได้"

ผู้บริหารของแคทเธอร์พิลลาร์ฯ กล่าวต่อไปว่า โรงงานแห่งหนึ่งผลิตรถดันดิน (bulldozer) หรือแทร็กเตอร์ตีนตะขาบขนาดกลาง ตามแผนจะผลิต 4 รุ่น แต่ตอนนี้ยังผลิตเพียง 3 รุ่น ในอนาคตเชื่อว่าจะผลิตได้ครบทั้งหมด โรงงานอีกแห่งผลิตเครื่องจักรกลหนักสำหรับเหมืองใต้ดิน ขุดแร่หินแข็ง จำพวกทองแดง เงิน เพชร ทองคำ ส่งให้กับลูกค้าเหมืองใต้ดินทั่วโลก

"สำหรับแผนการตลาดในประเทศไทย เราทำธุรกิจผ่านตัวแทนนำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศ คือ บริษัท เมโทรแมชชีนเนอรี จำกัด เพียงหนึ่งเดียว ธุรกิจปี 2557 ไม่ค่อยดีนัก แต่ปีที่ผ่านมา (2558) น่าจะได้อานิสงส์จากเงินลงทุนภาครัฐด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ตัวแทนจำหน่ายของเราได้ส่วนแบ่งตลาดบางส่วนจากตรงนั้นมา ธุรกิจมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมาก ส่วนปีนี้ (2559) เราก็หวังว่าจะดีขึ้นเพราะความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ด้านโครงสร้างพื้นฐานยังคงมีอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการตัดถนนเชื่อมเมือง หรือคลัสเตอร์ต่างๆ ที่รัฐพยายามผลักดัน ตลอดจนเมกะโปรเจ็กต์ที่เรากำลังจับตาดู"

สำหรับการลงทุนใหม่ ผู้บริหารของแคทเธอร์พิลลาร์ฯ เปิดเผยว่า กำลังรอดูทิศทางอยู่ เนื่องจากบริษัทได้สิทธิประโยชน์สำหรับโรงงาน 2 แห่งจากบีโอไอเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จึงยังไม่ได้มองโปรเจ็กต์ใหม่ "เราทราบนโยบายของรัฐที่ต้องการสนับสนุนคลัสเตอร์และกลุ่มอุตสาหกรรมบางประเภท เราเป็นเครื่องจักรกลหนักก็จริงแต่ผลิตภัณฑ์บางตัวก็ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น แนวคิดการพัฒนารถที่ใช้ในเหมืองใต้ดินแบบไม่ต้องอาศัยคนขับ แต่ยังเป็นเรื่องของอนาคต ขอให้โรงงานที่มีอยู่ ผลิตได้เต็มกำลังการผลิตก่อน จากนั้นอีก 3-4 ปีข้างหน้าค่อยมาดูว่าจะมีแผนอย่างไรต่อไป"

นางอนุตรากล่าวทิ้งท้ายว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงส่งผลกระทบกับเหมืองบางประเภท แต่ธุรกิจของบริษัทยังอยู่ในขั้นที่พอใช้ได้ โรงงานที่ระยองยังผลิตไม่มากเพราะผลิตสินค้าตลาดเฉพาะกลุ่ม (นิชมาร์เก็ต) เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเหมืองใต้ดินโดยเฉพาะ ส่วนการส่งออกไม่ได้รับผลกระทบเลยไม่ว่าเศรษฐกิจจะขึ้นหรือลงอย่างไร

ส่วนความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในปี 2559 นี้ บริษัทรอดูว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่แต่ก็ไม่ถึงกับกังวลเพราะที่ผ่านมาธุรกิจก็ยังดำเนินการมาได้ แม้ 3 ปีที่ผ่านมา จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นมากมายในไทย แต่บริษัทก็ไม่ได้รับผลกระทบ ซัพพลายเออร์ยังสามารถส่งชิ้นส่วนมาให้ได้อย่างต่อเนื่อง "เราคิดว่าปีนี้ไม่น่าจะมีเรื่องที่เหนือความคาดหมายเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันเราก็อยากเห็นสภาวะแวดล้อมที่สามารถคาดเดาได้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559