‘ลาการ์ด’เตือนเศรษฐกิจโลกปี 59 ระบุปัจจัยเสี่ยงจากดอกเบี้ยและจีน

08 ม.ค. 2559 | 08:00 น.
ผู้บริหารสูงสุดไอเอ็มเอฟเตือน การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2559 จะน่าผิดหวังเนื่องจากปัจจัยกดดันหลายประการ เช่นเดียวกับแนวโน้มเศรษฐกิจระยะกลางที่ย่ำแย่ลง

นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ระบุในบทความที่ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในเยอรมนี เตือนว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนและเพิ่มความเสี่ยงให้กับความเปราะบางของเศรษฐกิจทั่วโลก

นอกจากนี้ การขยายตัวของการค้าโลกชะลอตัวลงอย่างมาก และราคาวัตถุดิบที่ลดลงสร้างปัญหาให้กับประเทศที่พึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่หลายประเทศยังมีระบบการเงินที่อ่อนแอ โดยประเทศตลาดเกิดใหญ่เผชิญกับความเสี่ยงทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

"ปัจจัยทั้งหมดนี้หมายความว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะน่าผิดหวังและไม่สม่ำเสมอในปี 2559" นางลาการ์ดกล่าว และเสริมว่า แนวโน้มการเติบโตในระยะกลางปรับตัวอ่อนแอลง เนื่องจากผลิตผลที่อยู่ในระดับต่ำ ประชากรอายุมากขึ้น และผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อนว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 3.6% ในปีนี้

นางลาการ์ดระบุในบทความว่า การเริ่มปรับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ให้เข้าสู่สภาวะปกติ และการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจของจีนให้เปลี่ยนไปสู่การเติบโตที่ขับเคลื่อนโดยการบริโภคภายในประเทศนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีและจำเป็น อย่างไรก็ดี กระบวนการเหล่านี้จำเป็นต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ทั้งนี้ เฟดประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม หลังจากคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับใกล้เคียง 0% มาตั้งแต่ปลายปี 2551 โดยนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด กล่าวยืนยันว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะทยอยเกิดขึ้นอย่างช้าๆ

นางลาการ์ดเตือนว่า มีความเป็นไปได้ที่การขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบลุกลามต่อเนื่อง โดยดอกเบี้ยที่สูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนกู้ยืมสำหรับผู้กู้ยืมบางรายสูงขึ้นแล้ว ซึ่งรวมถึงในตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา ขณะเดียวกันแม้ว่าหลายประเทศจะมีความพร้อมมากขึ้นในการรับมือกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา แต่นางลาการ์ดแสดงความกังวลถึงความสามารถในการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

ทั้งนี้ บริษัทในตลาดเกิดใหม่ที่มีหนี้อยู่ในรูปของดอลลาร์สหรัฐฯ และรายได้อยู่ในสกุลเงินท้องถิ่นที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อาจประสบปัญหาเมื่อเฟดทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2559 โดยลาการ์ดกล่าวเตือนว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลให้บริษัทผิดนัดชำระหนี้ และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธนาคารพาณิชย์และรัฐบาล

อย่างไรก็ดี นางลาการ์ดกล่าวว่า ความเสี่ยงที่มากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจลดทอนได้ด้วยการสนับสนุนอุปสงค์ รักษาเสถียรภาพทางการเงิน และการปฏิรูปโครงสร้าง "ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ ยกเว้นสหรัฐฯ และอาจจะรวมถึงสหราชอาณาจักร จะยังจำเป็นต้องดำเนินโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ควรนำผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วย"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559