ยักษ์รับเหมา “คาริลเลียน” ล้ม วงการก่อสร้างอังกฤษสะเทือน

16 ม.ค. 2561 | 08:02 น.
คาริลเลียน (Carillion) บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของอังกฤษประสบวิกฤติการเงินและหนี้สินที่แบกต่อไม่ไหวจนสุดท้ายต้องประกาศเลิกกิจการและเข้าสู่กระบวนการนำสินทรัพย์ของบริษัทมาชำระบัญชี (liquidation) เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา คาดว่าการล้มกิจการครั้งนี้จะทำให้มีผู้ตกงานนับหมื่นคน และบริษัทที่เป็นเจ้าหนี้ของคาริลเลียนราว 30,000 รายก็สุ่มเสี่ยงว่าอาจจะเจอหนี้สูญ 1,000 ล้านปอนด์รวมๆกัน

C3 บริษัทก่อสร้างรายนี้มีพนักงานราว 20,000 คนในประเทศอังกฤษ และเป็นผู้รับเหมารายใหญ่โครงการก่อสร้างของรัฐบาลหลายโครงการ รวมถึงงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง HS2 และงานรับเหมาบูรณะซ่อมแซมสถานคุมขังกักกันนักโทษและโรงเรียนหลายแห่งของรัฐบาลอังกฤษ ผลพวงความปั่นป่วนระยะแรกที่จะเกิดขึ้นคือ หลายโครงการยังก่อสร้างไม่เสร็จ บริษัทจะยุติการจ่ายค่าแรงให้คนงานบางส่วนกลางสัปดาห์นี้ รัฐบาลอังกฤษจำเป็นต้องประชุมฉุกเฉินเพื่อหามาตรการบรรเทาผลกระทบและลดความเสียหาย ทั้งในส่วนของคนงานที่จะถูกลอยแพและโครงการที่ยังก่อสร้างค้างคาอยู่ รวมทั้งบรรดาเจ้าหนี้ราว 30,000 บริษัท ที่มีมูลค่าหนี้ค้างชำระจากคาริลเลียนรวมกันราว 1,000 ล้านปอนด์

728x90-03 สื่ออังกฤษรายงานว่า นายเดวิด ลิดดิงตั้น รัฐมนตรีประจำสำนักคณะรัฐมนตรี กำลังตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า กำกับดูแลผิดพลาดหรือไม่ เหตุใดจึงปล่อยให้ยักษ์ใหญ่ก่อสร้างที่มีเค้าลางเกี่ยวกับปัญหาทางการเงินมานานนับเดือน เดินมาถึงจุดที่ล้มครืนลงเช่นนี้ได้ นายเดวิดกล่าวต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลจะยังคงจ่ายค่าแรงให้คนงานของคาริลเลียนราว 19,500 คนที่กำลังทำงานให้โครงการของรัฐบาล แต่ในส่วนของคนงานหลายพันคนที่ทำงานให้ภาคเอกชนอยู่นั้น จะไม่ได้รับค่าแรงตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.นี้เป็นต้นไป Carillion crisis

รายได้หลักของคาริลเลียนมาจากการรับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งหลายโครงการไม่ได้มีมูลค่างานสูงอย่างที่บริษัทประเมินไว้ ปีที่ผ่านมา (2560) มูลค่าโครงการในมือของคาริลเลียนปรับลดลง 845 ล้านปอนด์ ในจำนวนนี้เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) มูลค่า 375 ล้านปอนด์ ขณะที่รายได้ไม่เข้าเป้า ยอดหนี้สินของคาริลเลียนกลับขยับสูงแตะระดับ 900 ล้านปอนด์ ซึ่งบริษัทจำเป็นต้องได้รับการอัดฉีดสภาพคล่องเงินสด 300 ล้านปอนด์ แต่บรรดาธนาคารได้ปฏิเสธการปล่อยกู้เพิ่มให้คาริลเลียน และรัฐบาลเองก็ปฏิเสธที่จะเข้าอุ้มยักษ์ใหญ่รายนี้ นำไปสู่ทางตันทำให้คาริลเลียนจำเป็นต้องประกาศเลิกกิจการและนำสินทรัพย์ออกขายเพื่อชำระหนี้

C1 สำหรับพนักงานของคาริลเลียนราว 43,000 คนทั่วโลกนั้น ในจำนวนนี้เกือบ 20,000 คนอยู่ในอังกฤษ พนักงานบางส่วนที่ทำงานให้โครงการของภาครัฐ เช่น โครงการทางรถไฟความเร็วสูง HS2 อาจถูกย้ายโอนไปอยู่กับบริษัทผู้รับเหมารายอื่นที่เข้ามารับงานแทน แต่ความเสี่ยงของการสูญตำแหน่งงานอาจครอบคลุมไปถึงบริษัทอื่นที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับคาริลเลียน เช่น บริษัทซัพพลายเออร์ อีกปัญหาลูกโซ่ที่น่าห่วงคือการล้มกิจการของคาริลเลียนอาจทำให้บริษัทขนาดเล็กหลายรายในวงการก่อสร้างที่พึ่งพารายได้จากการทำธุรกิจกับคาริลเลียน ประสบภาวะล้มละลายตามไปด้วย