คลังรับลูกปรับโครงสร้างภาษี4ด้าน สรรพากรคาดมี.ค.ถึงมือ‘สมคิด’/สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แย้มเกณฑ์ใหม่

07 ม.ค. 2559 | 09:00 น.
"สมคิด" สั่งคลังทำงบประมาณสมดุล 7ปี วางแนวปรับปรุงโครงสร้างภาษี 4 ด้าน "ลดเหลื่อมล้ำ-ธุรกิจขนาดเล็กโตได้-เพิ่มขีดแข่งขันประเทศ-การคลังยั่งยืน" /กรมสรรพากร คาดศึกษาโครงสร้างภาษี ก่อนเสนอขุนคลัง มีนาคม นี้ ลั่นอาจรื้อโครงสร้างยื่นภาษีให้สอดคล้องสังคม-เศรษฐกิจ ด้าน สศค. ชี้โครงสร้างใหม่อาจทันทีผลปี 2559 ระบุ ปัญหาสังคมสูงวัย ดันคนไทยมีลูก อาจนำมาขยายค่าลดหย่อนเพิ่ม

[caption id="attachment_25192" align="aligncenter" width="600"] รายการหักลดหน่อยภาษีปี 2559 รายการหักลดหน่อยภาษีปี 2559[/caption]

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามงานและมอบนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2559 โดยเปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างภาษีใน 4 ด้านคือ 1.ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหายากจน 2.ให้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโตต่อไปได้ 3.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ 4.ทำให้เกิดความยั่งยืนด้านการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะต้องไปทำตัวเลขการปรับโครงสร้างภาษีจะมีผลต่อรายได้ของประเทศอย่างไร โดยเฉพาะการทำงบประมาณสมดุลนั้นอยากให้เกิดขึ้นภายใน 7ปี

นอกจากนี้ยังได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี2559ร่วมกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้งข้าราชการกระทรวงระดับสูง โดยให้แนวคิดในการดำเนินการอย่างรอบคอบซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังทำงานได้ดี ทั้งการดูแลเศรษฐกิจประเทศและการปฏิรูปการจัดเก็บภาษี จะเห็นได้จากภาพรวมความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัวขึ้นพอสมควร

" การปรับโครงสร้างภาษีในปี 2559 ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้มีขึ้นมีลง แต่ต้องมองระยะยาวของประเทศเป็นหลัก" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อเรื่องนี้นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างการหักลดหย่อนภาษีรายได้สำหรับบุคคลธรรมดา ที่จะมีผลในปีภาษี 2559 ซึ่งคาดว่าน่าจะสรุปรายการการหัก ลดหย่อน ตลอดจนวงเงินให้มีความละเอียด รวมถึงขยายบางข้อให้สะท้อนกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันโดยเฉพาะการหักลดหย่อนกรณีบุตร ที่จำกัดที่ 3 คน สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท ดังนั้นแนวทางอาจปรับให้ไม่กำหนดเพดานเพื่อส่งเสริมให้เพิ่มจำนวนประชากรในอนาคต

ทั้งนี้ตามกรอบจะต้องศึกษาให้ครบทุกหัวข้อตั้งแต่ฐานระดับรายได้ ที่อาจขยายให้กว้างขึ้น เช่น เดิมผู้มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.5แสนบาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 1.5-3 แสนบาทต่อปีที่เสียในอัตรา 5% สำหรับแนวทางต่อปี คือ กลุ่มผู้มีรายได้เกินเดือนละ 2หมื่นบาทแต่ไม่เกิน 3หมื่นบาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งอนาคตจะทำให้กรมทราบว่าในฐานระบบจะมีผู้ยื่นกี่ราย ยื่นแล้วเสียภาษีจริงกี่ราย และกลุ่มใดที่เสียภาษีในอัตราเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่

"ตอนนี้หากจะถามว่ารายการการเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีหัวข้อใดมีการเปลี่ยนแปลงทั้งจำนวนหรืออัตราการลดหย่อนคงไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากยังต้องศึกษาให้สำเร็จ ประเมินความเสี่ยงและผลกระ ทบต่อประชาชนในวงกว้าง ส่วนตัวมองว่าจำเป็นต้องปรับหลายด้าน ให้บอกไปก็เหมือนเป็นการให้ข้อมูลในอากาศ ภารกิจตอนนี้กรมฯ จึงเน้นการทำ พรก.ให้สำเร็จ หลังจากนั้นเชื่อว่ากรอบโครงสร้างค่าลดหย่อนน่าจะมีความชัดเจนในลำดับต่อไป"

ข้อมูลจากกรมสรรพากร พบว่า ปัจจุบันมีบุคคลธรรมดายื่นแบบชำระภาษีจำนวน 10 ล้านคน มีผู้เสียภาษีจริงประมาณ 6-7 ล้านราย ในจำนวนนี้มีผู้มีรายได้สุทธิเกิน 4 ล้านบาท ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูงสุด 35% เพียง 1-2% ของผู้ที่ยื่นแบบทั้งหมด

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กรณีการกำหนดเกณฑ์การยื่นภาษีนั้น ทางกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีการปรับเพิ่มหรือลดรายการใด โดยเมื่อได้ข้อสรุปจะมีการเสนอตรงไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยไม่ผ่าน สศค. ทั้งนี้ตามกรอบระยะเวลา คาดว่าน่าจะสรุปและเสนอได้ทันภายในเดือนมีนาคม ซึ่งจะมีผลต่อการยื่นแบบแสดงการเสียภาษีปี 2559 ที่จะยื่นตั้งแต่ปี 2560

ทั้งนี้ เคยมีการเสนอแนวคิดในการนำปัจจัยด่านเศรษฐกิจ รายได้ประชาชน รวมถึงผลการศึกษากรณีที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (สังคมสูงอายุ (Aging Society) กรณีดังกล่าวอาจเพิ่มในส่วนของค่าลดหย่อนจากปัจจุบันมีการยกเว้นเบี้ยประกันสุขภาพสำหรับบิดา-มารดา ตามอัตราการจ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งเรื่องสังคมสูงวัยเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับผู้เสียภาษีอีกจำนวนมาก

อนึ่งพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฏากรพ.ศ.2558และพระราชกฤษฏีกาออกตามความในประมวลรัษฏากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฏากร(ฉบับที่ 595) พ.ศ.2558 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2559 นั้น กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในรอบบัญชีก่อนสิ้นปี 2558 มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทและจดแจ้งการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ(บัญชีเล่มเดียว)ต่อกรมสรรพากรจะได้รับยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง โดยจะเปิดให้จดแจ้งกับกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม - 15 มีนาคม 2559 โดยยืนยันว่า พ.ร.ก.นี้ไม่ใช่การนิรโทษกรรมทางภาษี ส่วนบริษัทที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบภาษีอากรเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม หลีกเลี่ยงภาษีอากร หรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีก่อนวันที่ 1มกราคม 2559 กรมสรรพากรยังดำเนินการเฉพาะกรณีนั้นๆต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ

ส่วนพ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากรนั้น ต้องเป็นบริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ซึ่งจัดตั้งก่อน (1ม.ค.59) มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ในรอบบัญชีปี 2558 เมื่อมาจดแจ้งกับกรมสรรพากรจะได้รับการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบบัญชีปี 2559 และปี 2560 สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่ไม่เกิน 3 แสนบาทยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 10% ของกำไรสุทธิสำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 3 แสนบาท รวมทั้งให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) ดำเนินการเพื่อให้สถาบันการเงินที่อยู่ในกำกับดูแลใช้บัญชีและงบการเงินที่บริษัทหรือห้างหุ้นนิติบุคคลแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินและขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559