“พิกบอร์ด”ไฟเขียว3 มาตรการอุ้มหมูราคาตก

16 ม.ค. 2561 | 05:01 น.
“พิกบอร์ด”ไฟเขียว3 มาตรการอุ้มหมูราคาตกต่ำ

นายธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากการประชุมคณะกรรมการพิกบอร์ด ซึ่งมีนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้รับทราบสถานการณ์ที่ราคาหมูลดลง 25% จากราคา 60 บาท/กิโลกรัม ลดเหลือ 45 บาท/กิโลกรัม ในรอบ 6 เดือน ทำให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรและสหกรณ์ต่าง ๆ มีแนวทางการช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยการนำลูกสุกรบางส่วนไปทำสุกรถัง และการลดจำนวนแม่พันธุ์ลงบางส่วน

 

tanit ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการพิกบอร์ดได้นำเสนอรายละเอียดในการช่วยเหลือ โดยการลดจำนวนสุกรในด้านต่าง ๆ จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่ 1) การตัดวงจรลูกสุกรทำหมูหัน โดยขอลดจำนวนลูกสุกร จำนวน 100,000 ตัว ขนาดลูกสุกรขุนน้ำหนัก 4-8 กิโลกรัม ขอเงินชดเชยให้เกษตรกรราคาตัวละ 400 บาท รวมเป็นเงินงบประมาณจำนวน 40 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์-พฤศจิกายน 2561 2) การปลดแม่พันธุ์สุกร ร้อยละ 10 จำนวน 100,000 ตัว ขอเงินชดเชยตัวละ 6,000 บาท รวมเป็นเงินงบประมาณจำนวน 600 ล้านบาท และ 3) การนำเนื้อสุกรเก็บเข้าห้องเย็น โดยตัดวงจรสุกรขุนจำนวน 100,000 ตัว ขอเงินชดเชยตัวละ 5,500 บาท (กิโลกรัมละ 55 บาท) ระยะเวลาดำเนินการการแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 30,000 ตัว 30,000 ตัว และ 40,000 ตัวตามลำดับ

ด้านนายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่สุกรมีราคาตกต่ำเนื่องจากการคาดการณ์จากปีที่ผ่านมาว่าตลาดส่งออก โดยเฉพาะจีนและกัมพูชาค่อนข้างดี เลยมีการเพิ่มจำนวนแม่สุกรจำนวนมาก แต่เนื่องจากผู้เลี้ยงสุกรของจีนสามารถฟื้นตัวได้เร็ว จึงทำให้ปริมาณหมูที่จีนจะสั่งซื้อจากไทยมีปริมาณน้อยลง นอกจากนี้ เวียดนามได้เพิ่มจำนวนแม่สุกร ซึ่งสุกรส่วนหนึ่งได้เข้าไปขายในกัมพูชา ประเทศไทยจึงมีคู่แข่งด้านราคา จึงเกิดภาวะทำให้สุกรล้นตลาด ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวผู้เลี้ยงสุกรได้ตระหนักดีอยู่แล้วถึงสาเหตุการประเมินและการกระทำของผู้เลี้ยงเอง ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทำให้ผู้เลี้ยงสุกรพยายามระบายสุกรด้วยการขายสุกรด้วยราคา 65-75 บาท ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ในตลาดทั่วประเทศ รวมถึงตลาดของภาครัฐด้วย

apai

อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงสุกรยังต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมจากที่ได้ดำเนินการร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งเงินจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มีขั้นตอนที่มาก และยังติดในเรื่องระเบียบต่าง ๆ จึงทำให้ล่าช้าต่อการเข้ามาช่วยเหลือ แต่กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งดำเนินการขับเคลื่อนต่อไป ทั้งนี้ การลดจำนวนลูกสุกรออกจากระบบตามเป้าหมาย 100,000 ตัว ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะเป็นแกนกลางในการเชิญผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่เข้ามาร่วมหารือ โดยจะมีกรมปศุสัตว์เป็นเจ้าภาพ เพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินการว่าจะดำเนินการกันเองใน 50,000 ตัวแรก หลังจากนั้นจะมีการประเมินในเรื่องของราคาว่ายังจำเป็นต้องดำเนินการต่อหรือไม่

สำหรับการปลดแม่พันธุ์สุกรออกจากระบบของการเลี้ยงได้ดำเนินการอยู่แล้ว ในจำนวนแม่พันธุ์ที่เพิ่มขึ้นมา มีจำนวนที่เกินอยู่ประมาณ 100,000 แม่ ซึ่งยังสามารถรอการปลดได้ ต้องใช้เวลา 7-8 เดือน เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาสุกรนานจนเกินไป คณะกรรมการพิกบอร์ดจึงมีมติขอความร่วมมือจากฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ให้ช่วยผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย และให้หยุดการผสมแม่พันธุ์ หรือการหยุดรอบการผลิต ประมาณ 10% - 20% ซึ่งทางอนุกรรมการฯ จะไปพิจารณาถึงจำนวนแม่พันธุ์ที่แต่ละฟาร์มมีต่อไป

728x90-03

นอกจากนี้ การนำเนื้อสุกรขุนเก็บเข้าห้องเย็น เพื่อระบายสุกรขุนออกจากตลาด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะช่วยเหลือโดยการขอเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 100 ล้านบาท มาให้กับสมาคมผู้เลี้ยงสุกร และสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร 1-2 แห่ง ที่จะนำเงินไปหมุนเวียนนำสุกรขุนฆ่าและเก็บเข้าห้องเย็น รอจนสุกรขุนได้ราคาดีจึงนำออกมาจำหน่ายต่อไป ทั้งนี้ เงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรไม่ใช่เงินให้เปล่า เป็นเงินที่ต้องคืน แต่อาจจะช่วยเหลือโดยการปลอดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยในอัตรา 1%-3% ซึ่งจะนำเข้าสู่คณะกรรมการของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเพื่อพิจารณาต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

“การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ถึงแม้จะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ถ้าดำเนินการแล้วจะสามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาวได้ และเป็นบทเรียนที่ดีที่ทาง Pig Board จะควบคุมให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น จึงขอยืนยันว่าการดูแลเรื่องราคาสุกรทั้งผู้ผลิตและราคาที่ผู้บริโภคซื้อจะอยู่ในราคาที่เป็นธรรม” นายอภัย กล่าว

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9