ตลาดเงินฝากปีวอกแข่งไม่เดือด แบงก์เน้นครบดีล/กอดลูกค้าเก่า

08 ม.ค. 2559 | 09:00 น.
แบงก์เผยสัญญาณโยกพอร์ตเงินฝากไปลงทุนหวังรับยิวสูงแทนดอกเบี้ย เน้นรักษาฐาน/ออกโปรดักต์ครบดีล ค่าย "กรุงไทย" ลุ้นไตรมาส 2-3 รัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดูดสภาพคล่องตึงตัว จับทิศตลาดก่อนคลอดโปรดักต์ ด้าน "ซีไอเอ็มบี ไทย" รับเทรนดอกต่ำชูผลิตภัณฑ์ลงทุน ตั้งเป้ายอดขาย 7-8 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินฝากขอโต 1 หมื่นล้านบาท จากฐานเงินฝากอยู่ 1 แสนล้านบาท

นายชัยณรงค์ เอื้อสิทธิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แนวโน้มเงินฝากในปี 2559 ธนาคารมองว่าในช่วงต้นปีหรือประมาณไตรมาสแรก ทิศทางการแข่งขันของเงินฝากอาจจะไม่แตกต่างจากปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน ทำให้การแข่งขันภาคธนาคารพาณิชย์ในการระดมเงินฝากยังไม่รุนแรง แต่หลังจากภาครัฐมีการใช้จ่ายและเกิดการลงทุนตามแผนที่วางไว้ จะก่อให้เกิดความต้องการทางด้านสินเชื่อ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับตัวในช่วงครึ่งหลังของปี จะทำให้เงินฝากกลับมามีความสำคัญและเกิดการแข่งขันในระบบ ดังนั้น ในช่วงต้นปีอาจจะเห็นผลิตภัณฑ์ทางด้านเงินฝากไม่หวือหวามากนัก แต่หลังเดือนมีนาคมเป็นต้นไปจะเริ่มเห็นผลิตภัณฑ์เงินฝากทยอยออกมาแข่งขันกัน

สำหรับกลยุทธ์ด้านเงินฝากของธนาคารกรุงไทย จะเน้นบริหารจัดการสภาพคล่องให้สอดคล้องกับความต้องการสินเชื่อ ซึ่งปัจจุบันสภาพคล่องยังคงมีเพียงพอต่อการขยายธุรกิจ ส่วนเงินฝากที่ครบกำหนดธนาคารอาจจะมีผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนอื่นมารองรับแทน เช่น กองทุนรวม เป็นต้น ถือเป็นนโยบายการออกผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับการลงทุนของลูกค้า เพราะในปีหน้าการแข่งขัน จะไม่เน้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียว แต่จะเห็นการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ผูกกับบัญชีเงินลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทน (Yield) ที่ดีกว่าเงินฝากทั่วไป แต่มีเรื่องของความเสี่ยงเข้ามาด้วย ซึ่งในส่วนของธนาคารกรุงไทยในปีหน้าจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินออกในช่วงครบรอบ 50 ปีธนาคาร อาจจะมีเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษ หรือเงินฝากผูกกับโปรดักต์อื่น และการออกโปรดักต์ที่ร่วมกับบริษัทในเครือ

ดังนั้น จากภาพรวมเงินฝากดังกล่าว ธนาคารแนะนำลูกค้าในช่วงต้นปี อาจจะต้องแบ่งเงินเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเน้นเงินฝาก-การลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องไม่เกิน 1 ปี เพื่อรอดูทิศทางอัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจ และอีกส่วนล็อกระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เช่น เงินฝากประจำ กองทุน และพันธบัตร โดยสัดส่วนอาจจะขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าในเรื่องของแผนทางการใช้เงิน ทั้งนี้ ณ เดือนตุลาคม ธนาคารมียอดคงค้างเงินฝากอยู่ที่ 2.16 ล้านล้านบาท คาดว่าสิ้นปี 2558 ยอดคงค้างเงินฝากจะจบอยู่ที่ 2.2-2.3 ล้านล้านบาท

"การแข่งขันเงินฝากในต้นปีหน้าคงไม่แตกต่างจากปีนี้มากนัก เราเองก็คงบริหารสภาพคล่องแบบปีนี้ แต่หลังจากเศรษฐกิจมีการพลิกอัพขึ้น ดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวในไตรมาส 2 และ 3 จะเริ่มเห็นการระดมทุนมากขึ้น กรุงไทยเองก็จะครบรอบ 50 ปีเราก็จะมีโปรดักต์พิเศษออกมา"

สอดคล้องกับนายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย บมจ.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การแข่งขันเงินฝากมีแนวโน้มไม่รุนแรงและไม่หวือหวานัก เนื่องจากสินเชื่อขยายตัวไม่สูง ประกอบกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องเร่งรัดระดมเงินฝาก อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์ทางด้านการลงทุนจะขยายตัวดีขึ้น เช่น กองทุนรวม ตราสารหนี้ หุ้นกู้อนุพันธ์ เป็นต้น เนื่องจากลูกค้ายังต้องการผลตอบแทน (Yield) ที่สูงอยู่ ทำให้การออมส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของโปรดักต์การลงทุนแทนโปรดักต์เงินฝาก

สำหรับธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งเป้าเติบโตเงินฝากไม่เกิน 10% หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากปีนี้ยอดเงินฝากรวมอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ขณะที่ตั้งเป้าขายผลิตภัณฑ์การลงทุนโดยรวมประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท จากปีนี้จะจบอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตต่อเนื่องจากปี 2557 อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท โดยในปีนี้ยอดขายกองทุนรวมเติบโต 30-40% หรือประมาณ 1.7-2.0 หมื่นล้านบาท คาดว่าปีหน้าจะเพิ่มเป็น 2 หมื่นบาท ส่วนหุ้นกู้อยู่ที่ 2-3 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้อนุพันธ์อีก 1-2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารเชื่อว่าโปรดักต์ของธนาคารค่อนข้างครบ แต่อาจต้องจับจังหวะและโอกาสของตลาดให้ถูกต้อง

"ปีหน้าเงินฝากคงโตไม่เยอะ เพราะดอกเบี้ยต่ำ แต่ผู้ฝากเงินยังเสาะหาผลตอบแทน ทำให้โปรดักต์ลงทุนจะได้ผลตอบรับดี ซึ่งเราจะมีโปรดักต์ที่ลิงค์ผลตอบแทนกับดอกเบี้ย และหุ้นมาเสนอลูกค้าด้วย ส่วนเงินฝากคงโตไม่เกิน 10% สอดคล้องกับสินเชื่อ"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559