แบงก์พาณิชย์ขยาด ‘เอ็นพีแอล’ คุมเป้าสินเชื่อ-ชูธงบริหารเสี่ยงทั้งในและนอก

08 ม.ค. 2559 | 10:31 น.
หลังจากเผชิญปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่พุ่งแรงในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา ขณะที่ความกังวลต่อหนี้เอ็นพีแอลที่ยังคงมีอาการระส่ำระสายในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประเมินแนวโน้มสินเชื่อทั้งปีจะมีอัตราการขยายตัวสินเชื่ออยู่ที่ 4-6% เนื่องจากมีข้อจำกัดในการคัดกรองคุณภาพลูกค้า อาทิ สินเชื่อรายย่อยคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยที่ระดับ 5-6% (จาก 5 ปีก่อนเคยขยายตัว 15.4% )

[caption id="attachment_25427" align="aligncenter" width="600"] เทียบเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อปี 58 -59 เทียบเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อปี 58 -59[/caption]

โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังเป็นกลุ่มหลักประมาณ 50% แต่ปีนี้จะชะลอตัวพักฐานเป็นผลจากมาตรการกระตุ้น อสังหาริมทรัพย์ภาครัฐที่ส่งผลก่อนหน้า ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตจะประคองการเติบโตที่ระดับ 8% ใกล้เคียงปีก่อน และสินเชื่อส่วนบุคคลคาดว่าจะเติบโตดีขึ้น ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจความหวังจะมาจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการส่งออกที่มีโอกาสขยายตัวเป็นบวก โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขับเคลื่อนได้ดีจะเป็น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และโลจิสติกส์ เป็นต้น

ต่อประเด็นดังกล่าวนายเดชา ตุลานันท์ รองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทิศทางสินเชื่อของ บมจ.ธนาคารกรุงเทพคาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4-5% เป็นอัตราที่สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ(จีดีพี)ที่ระดับ 3-4% โดยจะมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เช่น กลุ่มปิโตรเคมี โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และภาคการผลิต และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ส่วนปัจจัยความผันผวนของตลาดยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องติดตาม เพราะไทยยังคงพึ่งพาการส่งออกและนำเข้า

ขณะที่นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยจะไม่มุ่งเน้นบุกตลาดสินเชื่อให้เติบโตมากนัก เพราะประเมินเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวในจุดที่ดีมาก ขณะที่ยังมีปัจจัยซึ่งเป็นตัวแปรที่ยังก่อให้เกิดความผันผวน ดังนั้นการทำธุรกิจในปีนี้ยังคงต้องระมัดระวัง ภายใต้เป้าการเติบโตสินเชื่อเพียง 1 เท่าของจีดีพี หรือประมาณ 3% จากจีดีพีที่คาดว่าจะขยายตัว 3% ซึ่งกลุ่มที่ยังเติบโตได้จะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอี ส่วนรายย่อยยังคงนโยบายการคัดกรองที่เข้มงวด ด้านธุรกิจรายใหญ่ไม่เน้นขยายสินเชื่อ แต่จะสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าภายใต้ผลิตภัณฑ์ของธนาคาร

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า นโยบายการดำเนินธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยจะเป็นการเติบโตแบบระมัดระวัง และสมดุล เพราะการเติบโตแบบก้าวกระโดดจะมีความเสี่ยงต่อระบบค่อนข้างมาก ซึ่งการเติบโตแบบสมดุลจะอยู่ภายใต้การตั้งเป้าขยายสินเชื่อบนจีดีพีประมาณ 1-1.5 เท่าของ โดยมองบนสมมติฐานว่าจีดีพีจะโต 3-3.5% สินเชื่อน่าจะโตประมาณ 6-7% มุ่งเป้าไปตามธุรกิจดาวเด่นที่สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐาน และดิจิตอลแบงกิ้ง และให้ความระมัดระวังกลุ่มที่ยังน่าห่วง ส่วนนโยบายความเสี่ยงยังคงเดินหน้าบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังทั้งจากภายในและภายนอก และบริหารความเสี่ยงหลังจากมีการปล่อยสินเชื่อออกไปแล้ว

เช่นเดียวกับนายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภายใต้จีดีพีโต 3% สินเชื่อทั้งระบบจะขยายตัวที่ระดับ 3-5% ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ขยายตัวใกล้เคียงระบบ โดยการเติบโตจะเห็นแนวโน้มบริษัทขนาดใหญ่เริ่มมีการลงทุนใหม่มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลักของภาครัฐที่ต้องการให้เป็นปีแห่งการลงทุน ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สามารถเติบโตที่ 5-8% จากยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อรายย่อยคาดว่าจะโต 5-10% มาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ธนาคารพร้อมสนับสนุนลูกค้าทุกกลุ่ม

ส่วนนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี กล่าวว่า ปีนี้ปัจจัยเสี่ยงยังมีอยู่ทั้งเรื่องภัยแล้ง หนี้ครัวเรือนที่ยังแก้ไขค่อนข้างยาก และปัจจัยความเปราะบางของเศรษฐกิจต่างประเทศของสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ดังนั้นทิศทางการเติบโตของระบบธนาคารพาณิชย์คงจะต้องสอดคล้องกับการขยายตัวจีดีพีที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% สินเชื่อภาพรวมน่าจะอยู่ที่ 6% โดยจะขยายตัวตามสัดส่วนประมาณ 50% จะเป็นโครงการภาครัฐ เอสเอ็มอี 30% รายย่อย 20% ซึ่งจะเน้นสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมตั้งเป้า 5 ปี สัดส่วนควรขยับเป็น 30-40% ส่วนด้านเงินฝากเติบโตประมาณ 6.7-6.8%

ดร.สุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ภาพรวมเชื่อว่าทุกธนาคารพาณิชย์จะต้องระมัดระวังตัวมากเป็นพิเศษ เพราะจะเห็นเอ็นพีแอลในกลุ่มเอสเอ็มอีและรายย่อยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของธนาคารในปีวอก โดยเซ็กเตอร์ที่ต้องระวังจะเป็นกลุ่มเกษตรและอสังหาริมทรัพย์ เพราะยังได้รับแรงกดดันจากภัยแล้ง และราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังตกต่ำ ทำให้มีรายได้ที่ลดลง

ขณะเดียวกันปัญหาหนี้ครัวเรือนยังคงสูงต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังคงเหนื่อยในปีหน้า ซึ่งธนาคารจะต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะจะใช้แผนกลยุทธ์เดิมอาจจะไม่เหมาะสมกับภาวะตลาด ดังนั้น สินเชื่ออาจจะไม่จำเป็นต้องขยายตัวมากนัก แต่จะต้องหันไปสร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยสินเชื่อควรโตประมาณ 10-15% จากเดิมที่ขยายตัว 20-25% ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 25%
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานธุรกิจธนาคารพาณิชย์ บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ธนาคารยังไม่ได้วางเป้าหมายการเติบโตในปี 59 แต่โดยปกติสินเชื่อจะขยายตัวประมาณ 1.5-2 เท่าของจีดีพี หากจีดีพีขยายตัวได้ประมาณ 2-3% สินเชื่อน่าจะเติบโตได้ประมาณ 5-7% โดยธนาคารอาจจะเริ่มทำตลาดในกลุ่มสินเชื่อบุคคลที่มีรายได้สูงตั้งแต่ 5-8 หมื่นล้านบาท

"อาจจะสร้างทีมงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นเซ็กเมนต์ที่ยังไม่ได้ทำ ซึ่งจะเน้นฐานจากลูกค้าเดิมก่อน ส่วนตลาดรถยนต์มองว่าสินเชื่อจะติดลบน้อยลง จากปี 2558 ที่ติดลบกว่า 15% โดยประเมินยอดขายน่าจะอยู่ประมาณ 8 แสนคัน ซึ่งธนาคารจะมุ่งเน้นขยายพันธมิตรทั้งในส่วนของเต็นท์รถ และดีลเลอร์"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559